ุ
นาย ศักดิ์ดา ทองปลาด ผู้ช่วยผู้จัดการสายงานธุรกิจ ในฐานะผู้ทำการแทนกรรมการผู้จัดการตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังจากคณะอนุกรรมการระบายข้าว ซึ่งมีนายนิวัติธำรงค์ บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานได้พิจารณาให้ เปิดระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลผ่านตลาด AFET ปริมาณ 5 แสน-1 ล้านตันในช่วงครึ่งปีหลัง ทาง AFET จะหารือร่วมกับคณะอนุกรรมการระบายข้าวผ่านตลาด AFET ซึ่งมีนางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน ร่วมกับตัวแทนจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางหลักเกณฑ์การระบายออกมาภายในต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งเบื้องต้นคงจะใช้แนวทางเดียวกับที่เคยปฏิบัติในการระบายเมื่อปี 2550-2552 โดยน่าจะแบ่งเป็นลอตเล็ก ๆ และทยอยระบายคราวละ 1-2 แสนตันต่อเดือนได้
ประเมินว่าการระบายข้าวผ่าน AFET จะส่งผลดีต่อการเพิ่มปริมาณการซื้อขายในตลาดล่วงหน้า หากระบายข้าวทั้งหมด 1 ล้านตัน คิดเป็นจำนวนสัญญาที่ต้องเปิดซื้อขายทั้งหมด 66,000 สัญญา ในระยะ 6 เดือน เพราะผู้ซื้อ-ผู้ขายจะต้องมาสัญญาตามมาตรฐานของตลาดที่กำหนดไว้ปริมาณ 15 ตันต่อสัญญา ซึ่งหากเฉลี่ยเป็นจำนวนสัญญาต่อวันจะทำให้ยอดการซื้อขายในตลาดเพิ่มขึ้นได้ วันละ 500 สัญญาต่อวัน
"ตลาดพร้อมที่จะเปิดระบายข้าวขาว 5% และข้าวหอมมะลิ 100% ได้ทันที เพราะมีสัญญามาตรฐานกำหนดอยู่แล้ว การที่อนุมัติให้มาระบายถึง 1 ล้านตันสามารถทำได้ เพราะเคยใช้วิธีนี้ระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลช่วงปี 2550-2552 ปริมาณ 7 แสนตัน หรือเป็น 80% ของปริมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้มาระบาย และขายได้ราคาที่ดี สอดรับกับภาวะตลาด ส่งผลดีให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าวสามารถใช้ราคาล่วงหน้าในการวาง แผนการผลิต การตลาด และผู้ใช้ก็สามารถเข้ามาซื้อประกันความเสี่ยงได้ด้วย โดยปกติยอดการซื้อขายในตลาดหลังเปิดประมูลจะเพิ่มขึ้นได้ 3 เท่าจากที่คาดการณ์ เพราะไม่ใช่เพียงแค่ผู้ร่วมประมูล แต่จะมีทั้งลูกค้าที่ต้องการประกันความเสี่ยงล่วงหน้าด้วย ช่วยกระตุ้นยอดการเทรดข้าวในตลาดล่วงหน้า จากเดิมที่ไม่มีการซื้อขายเลย"
นายศักดิ์ดากล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะมีการเปิดหลักเกณฑ์การซื้อขาย (ที โออาร์) ให้ผู้ซื้อที่ต้องการประมูลข้าวเข้าไปตรวจสอบสภาพข้าวในคลังสินค้าที่จะนำมา เปิดประมูลผ่าน AFET แล้ว จากนั้นผู้ซื้อจะเสนอราคาประมูลเบซิส (BASIS) หมายถึง เสนอราคาที่จะซื้อล่วงหน้า (X) และบวกหรือลบตัวเลขที่ผู้ซื้อประเมินจากค่าใช้จ่ายและคุณภาพข้าวที่จะซื้อ เช่น ถ้าราคาข้าวหอมมะลิล่วงหน้าเป็น กก.ละ 33 บาท แต่คุณภาพข้าวในคลังที่ผู้ซื้อไปเลือกไม่ค่อยดี จะตั้งราคาลบลงจาก 33 บาท เช่น เสนอเบซิสลบ 3 บาท เหลือ 30 บาท เป็นต้น ส่วนหลักการกำหนดช่วงระดับราคาที่จะเสนอเบซิสก็จะมีคณะที่ปรึกษาการซื้อขาย ล่วงหน้ากำหนดเป็นหลักเกณฑ์ออกมาว่า จะกำหนดอัตราค่าขนส่งต่อ กม.ละเท่าไหร่ เป็นต้น เมื่อเสนอราคาแล้ว พิจารณาแล้วใครชนะการประมูลก็เสนอต่อคณะอนุกรรมการระบาย เช่นเดียวกันกับวิธีการอื่น
ส่วนปริมาณการซื้อขายแต่ละสัญญานั้น จะต้องให้สอดคล้องกับหลักแนวทางการระบายของกระทรวง ซึ่งจะกำหนดให้เสนอราคาระบายแบบยกคลังปริมาณ 2,000 ตัน แต่เมื่อชนะการประมูลแล้ว ผู้ซื้อจะต้องมาทำสัญญาซื้อขายตามข้อกำหนดมาตรฐานของตลาด คือ แบ่งทำสัญญาละ 15 ตัน ถ้าซื้อยกคลัง 2,000 ตัน ต้องทำสัญญาทั้งหมด 133 สัญญา
แม้ ว่าจะมีจำนวนสัญญามาก แต่ค่าใช้จ่ายในการระบายผ่านวิธีนี้ถือว่าน้อยมาก เพราะมีค่าธรรมเนียมประมาณ กก.ละ 4 สตางค์ หรือตันละ 30 บาท ส่วนหลักทรัพย์ค้ำประกันต่อการเข้าซื้อขายนั้น ผู้ซื้อจะต้องวางหลักประกันการซื้อขายตามเงื่อนไขในสัญญามาตรฐาน เช่น ข้าวขาว 5% วางหลักทรัพย์ 30,000 บาท เพราะเป็นสัญญาแบบ Both Option มี 2 เงื่อนไขคือ จะรับมอบจริงหรือไม่ก็ได้ ส่วนข้าวหอมมะลิ 100% วางหลักทรัพย์ 16,500 บาท ทั้งนี้ ในกรณีที่ราคาสินค้าลดลง ต้องเพิ่มหลักประกันให้เท่ากับปกติ แต่เมื่อทั้งสองฝ่ายรับมอบสินค้าแล้วจะยกเลิกสัญญาและรับหลักประกันคืน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|