ุ
ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้อนุมัติวงเงินโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/2557 ล็อตใหม่จำนวน 2.7 แสนล้านบาท โดย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้สัมภาษณ์ว่า วงเงินดังกล่าวเป็นวงเงินต่อปี ซึ่งเป็นไปตามกรอบของ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุมัติวงเงินกู้ไว้อยู่แล้วไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เพราะโดยหลักแล้ว จะต้องใช้วงเงินเดิมตามกรอบที่ ครม.ได้อนุมัติไว้ จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่จะไปทำหน้าที่ต่อ
"ยืนยันวงเงิน 2.7 แสนล้านบาทนั้น จะไม่ใช่กรอบวงเงินกู้ใหม่ แต่เป็นกรอบวงเงินเดิมจากการระบายข้าว โดยกระทรวงพาณิชย์จะทำการระบายข้าวที่รัฐบาลรับจำนำไว้ แล้วเอาเงินที่ได้กลับมาเข้าคลัง เพื่อใช้เป็นวงเงินหมุนเวียนต่อไป ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง ที่จะต้องประสานงานใช้เม็ดเงินดังกล่าว ซึ่งจะไม่เกิน 5 แสนล้านบาทต่อวงรอบตามที่ ครม.ได้อนุมัติไป"
ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการขายข้าวให้กับจีน ที่ฝ่ายค้านบอกว่าไม่ได้เกิดขึ้นจริงนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รายละเอียดคงต้องถามทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ส่วนที่ตนเคยพูดเรื่องดังกล่าว หลังเดินทางกลับจากจีนนั้น ก็เป็นการพูดในเวทีที่ได้หารือกัน โดยขอความร่วมมือในการซื้อขายสินค้าทางการเกษตร ซึ่งรวมถึงข้าวและยางพารา จากนั้นขั้นตอนการปฏิบัติก็มีคณะกรรมการประสานของทั้งสองประเทศที่จะดำเนินการต่อไป
"กิตติรัตน์"ยันใช้เงินขายข้าวรับจำนำใหม่
ด้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิต 2556/57 ว่าหลังจากที่ครม. ได้อนุมัติกรอบวงเงินในการดำเนินการ 2.7 แสนล้านบาท หลักการในการดำเนินการ ก็คือ การใช้เงินในโครงการนี้สำหรับการรับจำนำข้าวในฤดูกาลผลิตหน้าก็จะไม่เกินวงเงิน 2.7 แสนล้านบาท
"สำหรับที่มาของเงิน 2.7 แสนล้านบาท ในส่วนแรกจะใช้เงินที่ได้จากการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล มาเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการก่อน หากเงินที่ได้จากการระบายข้าวไม่เพียงพอสำหรับใช้ในการดำเนินการ ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ที่จะต้องหาเงินกู้มาใช้ในโครงการเพิ่มเติม ซึ่งจะต้องขอความเห็นชอบต่อ ครม.อีกครั้งหนึ่ง"
เขากล่าวด้วยว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์กำลังเร่งดำเนินการระบายข้าวอยู่ โดยกระทรวงพาณิชย์ทราบดีว่าสถานการณ์ของกระทรวงการคลังกู้เงินได้จำนวนมากน้อยเท่าใด และมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง
"วงเงินที่ได้รับการอนุมัติ 2.7 แสนล้านบาท เป็นกรอบสำหรับการดำเนินงานทั้งปีงบประมาณ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องใช้เงินตั้งแต่วันแรกคือวันที่ 1 ต.ค.ซึ่งหากระหว่างดำเนินการแล้วเงินขาดกระทรวงการคลัง ก็จะจัดหาเงินกู้ แต่เป็นไปตามกรอบการกู้เงินที่กำหนดไว้คือไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี" นายกิตติรัตน์
ชงคลังค้ำเงินกู้ 1.7 แสนล้าน
ด้าน นายบุญไทย แก้วขันตี รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงกรอบวงเงิน 2.7 แสนล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ใช้สำหรับการรับจำนำข้าวในปีการผลิต 2556/57 ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนต.ค. นี้ โดยกล่าวว่า เข้าใจว่ารัฐบาลต้องการจะให้ใช้เม็ดเงินที่ได้จากการระบายข้าวในฤดูกาลผลิตที่ผ่านมา เพื่อดำเนินโครงการรับจำนำในฤดูกาลผลิต 2556/57 ซึ่งขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ ได้ทยอยส่งคืนเงินจากการระบายข้าวมาให้แก่ ธ.ก.ส. เฉลี่ยเดือนละกว่า 1 หมื่นล้านบาท จนถึงปัจจุบันมียอดเงินส่งคืนมาแล้วจำนวน 1.5 แสนล้านบาท คาดว่า ณ สิ้นปี ทางกระทรวงพาณิชย์จะสามารถส่งคืนเงินจากการระบายข้าวได้ตามเป้าหมายที่ 2.2 แสนล้านบาท
"หากรัฐบาลมีนโยบายให้ใช้เงินจากการระบายข้าวเพื่อดำเนินโครงการรับจำนำรอบใหม่ ก็ถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่จะต้องระบายข้าวให้ได้ทัน แต่ในระยะเริ่มต้นนี้ หากไม่มีเม็ดเงินเพียงพอสำหรับการรับจำนำ ทางกระทรวงการคลังก็คงต้องหาแหล่งเงินมาให้" เขากล่าว
ทาง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงพาณิชย์ และ ธ.ก.ส.จะมีการหารือถึงแผนในการบริหารจัดการเงินทุนจำนำข้าวรอบใหม่ในช่วงปลายสัปดาห์นี้ โดยในแผนนั้น ทาง ธ.ก.ส.จะเสนอให้ สบน.ค้ำประกันเงินกู้จำนวน 1.7 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการรับจำนำรอบต่อไป ซึ่งถือว่าอยู่ในวงเงินที่ สบน.ค้ำประกันได้ ส่วนที่เหลือ 1 แสนล้านบาท จะนำมาจากการระบายข้าว
เขากล่าวด้วยว่า วงเงินที่ใช้ในการรับจำนำข้าวรอบใหม่นี้ จะเป็นวงเงินใหม่ที่ไม่นับรวมกับวงเงินที่ได้ใช้ไปสำหรับการรับจำนำข้าวรอบที่ 1 และ รอบที่ 2 หรือ นับตั้งแต่ฤดูกาลผลิต 2554 ทั้งนี้ รัฐบาลได้ใช้วงเงินสำหรับโครงการจำนำข้าวไปแล้วจำนวน 6.6 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นเงินกู้ที่ สบน.ค้ำประกันจำนวน 4.1 แสนล้านบาท เงินกู้จาก ธ.ก.ส.จำนวน 9 หมื่นล้านบาท และ เงินสำรองพิเศษจาก ธ.ก.ส.อีกจำนวน 1.6 แสนล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้ วงเงินดังกล่าวจะอยู่ในกรอบ 5 แสนล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
สำหรับฤดูกาลผลิต 2556/57 นี้ รัฐบาลคาดว่าจะมีปริมาณข้าวเปลือกเข้าสู่โครงการรับจำนำจำนวน 16.5 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวนาปีจำนวน 11 ล้านตัน และ ข้าวนาปรังจำนวน 5.5 ล้านตัน
จี้หน่วยงานเกี่ยวข้องชี้แจงเรื่องข่าว
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมครม.เมื่อวานนี้ (17 ก.ย.) นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้แจ้งในที่ประชุมถึงโครงการรับจำนำข้าว โดยได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ให้ช่วยกันชี้แจงเรื่องข้าวและดูแลการบริหารจัดการทั้งระบบในโครงการดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมาอีก
ทั้งนี้ การเปิดรับจำนำข้าวรอบใหม่ ไม่ได้เป็นการขอกรอบวงเงินใหม่ แต่เป็นการใช้วงเงินเดิม เพราะคาดการณ์ว่าเราจะได้เงินจากการขายระบายข้าวในสต็อก ประมาณ 270,000 ล้านบาท มาหมุนเวียนใช้ได้เพียงพอในการรับจำนำข้าวนาปีรอบใหม่
หารือครม.เล็งเลิกจำนำหันช่วยปัจจัยผลิต
นอกจากนี้ นายกฯ ระบุด้วยว่าควรให้ชาวนาปลูกข้าวทีเดียว เน้นเรื่องคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ เพราะถ้าข้าวมีคุณภาพดี ราคาก็จะสูงขึ้น และเมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วม ก็สามารถเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นได้ เช่น ทำการประมง หรือปลูกพืชชนิดอื่น เป็นต้น
ทั้งนี้ นายกฯ มอบหมายให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี, นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ไปหารือกันถึงวิธีการเบื้องต้นของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือเป็นระบบในเรื่องของข้าว เช่น มีการแจกต้นกล้า หรือรัฐบาลให้เงินอุดหนุน เป็นต้น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
|