www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ปัดราคาจำนำ 1.2 หมื่นยันไม่ใช่ความผิดชาวนา


นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมครม.นัดพิเศษ วานนี้ (19 มิ.ย.) เพื่อพิจารณาอนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ลดราคาจำนำข้าวขาว 5% เหลือ 1.2 หมื่นบาทต่อตัน จาก 1.5 หมื่นบาทต่อตัน มีผลวันที่ 30 มิ.ย. นี้ ประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับกลุ่มชาวนาที่จะได้รับเงินลดลง เตรียมออกมาประท้วงรัฐบาลในเร็วๆ นี้

นายสมศักดิ์ เลิศอนันต์ ประธานสภาเกษตรกร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อุปนายกสมาคมชาวนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจาก ครม.เห็นชอบมติ กขช. ลดราคารับจำนำข้าวเหลือตันละ 12,000 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. นี้ รวมทั้งกำหนดเพดานการรับจำนำข้าวครัวเรือนละ 5 แสนบาท ว่า ส่งผลให้ชาวนาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดใกล้เคียงไม่พอใจมาก เพราะว่าจะทำให้รายได้เกษตรกรลดลงทันที ขณะที่ต้นทุนการผลิตเท่าเดิม

โดยปกติที่รัฐบาลรับจำนำตันละ 15,000 บาท ณ ความชื้นที่ 15% เกษตรกรได้รับราคาจริงเพียงตันละ 12,000-13,000 บาท เพราะถูกหักค่าความชื้นที่สูงเกินกว่าที่กำหนด กรณีที่โครงการรับจำนำถูกลดราคาลงมาเหลือตันละ 12,000 บาท ราคาที่เกษตรกรจะได้รับจริง จะเหลือไม่ถึงตันละ 10,000 บาท ซึ่งอยู่ไม่ได้

ลั่นชาวนาไม่ผิด ชี้ทุจริตต้นตอขาดทุน

จากการหารือเบื้องต้นเกษตรกรส่วนใหญ่เข้าใจว่า โครงการของรัฐประสบปัญหาการขาดทุน แต่ปัญหานี้เกิดจากกระบวนการจัดการของรัฐ ที่มีการทุจริตทุกกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การนำข้าวมาเวียนขาย การนำเข้าข้าวจากต่างประเทศมาสวมสิทธิ ทั้งหมดนี้เกษตรกรไม่มีส่วนรู้เห็น แต่เมื่อโครงการไปไม่ไหวทุกคนหันมาแก้โดยการลดราคาลง จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ชาวนาไม่พอใจและไม่เห็นด้วยกับราคาจำนำ 12,000 บาท เพราะว่าต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมากตันละ 8,000 บาท หากจำนำ 1.2 หมื่นบาท ความชื้น 15% ชาวนาจะได้รับราคาจริง 9,000-9,500 บาทต่อตัน ไม่เพียงพอเลี้ยงชีพในครอบครัว

"ได้ขอให้ชาวนาทั่วประเทศ ส่งความเห็นมาที่สมาคมฯ เพื่อจะได้รวบรวมเสนอรัฐบาล ให้ทบทวนราคาจำนำใหม่ เพราะว่าราคา 12,000 บาทต่อตัน ชาวนารับไม่ได้แน่" นายประสิทธิ์ กล่าว

แกนนำชาวนาถกกำหนดท่าทีวันนี้

ขณะที่ นายวิเชียร พวงลำเจียก อุปนายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า วันนี้ (20 มิ.ย.) แกนนำชาวนาหลายจังหวัดจะนัดรวมตัวกันที่โรงแรมย่านราชประสงค์ เพื่อกำหนดท่าทีในการประท้วงรัฐบาลที่ลดราคาลงเหลือ 12,000 บาท เพราะอยู่ไม่ได้กับราคาขนาดนี้ ต้นทุนอยู่ที่ 5,000-6,000 บาทต่อไร่ แต่ผลผลิต 1 ตัน ต้องใช้พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน ต้นทุนจึงไปอยู่ที่ 9,000-9,500 บาทต่อตัน เมื่อรัฐลดราคาและถูกหักความชื้น แทบไม่มีกำไร ยังไม่รวมต้นทุนค่าแรงและดอกเบี้ย

"ปัญหาขาดทุนเกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ ขาดทุนจากข้าวในโกดังเสื่อม ข้าวอายุสั้นไม่ได้คุณภาพเข้าร่วม พอจะแก้ปัญหาก็มาลดราคา ไม่ถูกต้อง ชาวนาเสียขวัญมากในขณะนี้ ต้องเดินหน้า 1.5 หมื่นบาทไปก่อนแล้วให้ไปจบ 15 ก.ย. เพราะขณะนี้ข้าวนาปรังก็กำลังออก หลังจากนั้นให้มาหารือกันว่าจะเอาอย่างไร ให้ฟังเสียงชาวนาด้วย"

ต่อรองขอราคา 1.35 หมื่นบาทต่อตัน

ทั้งนี้ จากการหารือราคารับจำนำข้าวที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ตันละ 13,500 บาท ในความชื้น 15% ส่งผลให้เกษตรกรขายได้จริงตันละ 10,000-11,000 บาท พอจะอยู่ได้ ดังนั้นจึงอยากขอให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องนี้ใหม่ หากไม่มีการทบทวนมีความเป็นไปได้ที่จะมีเกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องกับรัฐบาล ซึ่งโดยส่วนตัวไม่อยากให้เป็นแบบนั้น เพราะว่าจะทำให้ภาพลักษณ์ของชาวนาไม่ดีตามไปด้วย

"เมื่อเช้ารัฐมนตรีบุญทรง (เตริยาภิรมย์) โทรมาหาว่าอยากให้ช่วยรัฐบาลด้วย แต่ผมไม่ได้รับปาก เพราะเป็นเรื่องที่เกินไปจริงๆ ท่านที่เป็นผู้วางนโยบายรัฐกำหนดเองทั้งหมด อยากให้เป็นแบบไหน อยากทำอะไรก็คิดเอาเอง ไม่ปรึกษาใคร พอมีปัญหาจะมาขอให้ยอมกันแต่ไม่คิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ผมก็ได้แต่รับฟังทั้ง 2 ฝ่าย ประสาทจะเสียอยู่แล้ว"นายสมศักดิ์ กล่าว

ชาวนาโวย"ตายแน่"ลดราคาจำนำ

นายเลี่ยม พวงเนียม อายุ 78 ปี ชาวบ้านจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท ก็ยังได้เงินช้า และได้ต่ำกว่าราคาจำนำ โครงการนี้ทำให้โรงสีร่ำรวย ส่วนชาวนายากจนเหมือนเดิม หากลดราคาจำนำลงอีก ตนไม่เห็นด้วย หากจะลดราคาจำนำต้องลดทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และน้ำมัน ไม่อย่างนั้นชาวนาไปไม่รอดแน่ เช่นเดียวกับนายบุญเรือน จำเนียน ชาวนาจาก จังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า ราคาข้าวที่ขายก่อนหน้านี้อยู่ที่ 12,000-13,000 บาท ได้ไม่เต็ม 15,000 บาท เนื่องจากโรงสีรับซื้อแค่นี้ หากรัฐบาลลดราคาลงอีก คงอยู่ไม่ได้แน่

หอการค้าจี้จำนำราคาตลาดเฉพาะนาปี

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จุดยืนหอการค้าไทยต่อโครงการรับจำนำข้าว ร่วมกับนายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการ ว่า หอการค้าไทย ได้ตั้งคณะทำงาน 1 ชุด มีนายวิชัย อัศรัสกร เป็นประธาน เพื่อติดตามโครงการรับจำนำข้าว โดยทำข้อเสนอ 3 ข้อ เพื่อยื่นต่อนายกรัฐมนตรีเร็วๆ นี้ คือ

1.ขอให้รัฐบาลรับจำนำข้าวในราคาตลาด และรับจำนำเฉพาะข้าวนาปี และต้องจำกัดปริมาณรับจำนำแต่ละครอบครัว ขอให้สนับสนุนงบพัฒนาประสิทธิภาพการปลูกและผลิตข้าว เช่น แหล่งน้ำ ปุ๋ย การรับจำนำเฉพาะนาปี เชื่อว่าชาวนาเกือบทั่วประเทศได้รับประโยชน์ ขณะที่นาปรังจะมีเฉพาะชาวนาพื้นที่ชลประทาน 2.ขอให้รัฐบาลจัดโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูกจริงจัง 3.ขอให้เร่งระบายข้าวสต็อกอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม ขอให้ยกเลิกการขายแบบลับๆ ให้แก่เอกชนที่มีความใกล้ชิด และให้เปิดประมูลเป็นการทั่วไป

จี้ประมูลขายโปร่งใส-เปิดเผยข้อมูล

"วิธีการประมูลจะทำให้ได้ราคาที่ดีที่สุด มากกว่าการประมูลแบบลับๆ ในแง่ผลกระทบราคาตลาดกรณีตลาดรับรู้การเพิ่มขึ้นของซัพพลายในตลาด เห็นว่าหากใช้วิธีประมูลครั้งละไม่มาก จะไม่ทำให้ราคาตลาดลดลง"นายอิสระ กล่าว
นายอิสระ กล่าวว่าการตั้งงบประมาณขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวที่ปีละ 1แสนล้านบาท หากเป็นการประเมินว่าเหมาะสมกับรายรับจากภาษีและรายจ่ายในโครงการ อยู่ในแผนทางการคลังอยู่แล้ว เห็นว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่หากผลการดำเนินการคลาดเคลื่อนมาก หอการค้าฯ ก็พร้อมติดตามออกมาแสดงท่าทีต่อไป

"หอการค้าไทย และ สภาหอการค้าฯ อยากให้ กขช. ชี้แจงให้ชัดเจน ขอให้เปิดเผยข้อมูลทั้งปริมาณข้าวที่รับจำนำ เงินที่ใช้ไป ผลกำไรขาดทุน รวมทั้งความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต" นายอิสระ กล่าว

ผู้ส่งออกหนุนลดราคาชี้กลไกดีขึ้น

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่าเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลยอมลดราคารับจำนำ หลังจากนี้เชื่อว่ากลไกการตลาดจะทำงานได้ดีขึ้น และขีดความสามารถการแข่งขัน หลังจากช่วง 1 ปีที่ผ่านมา การส่งออกข้าวลดลงถึง 35% เพราะราคาจำนำที่สูง เชื่อว่าจะทำให้ผู้ส่งออกสามารถแข่งขันกับภาครัฐซื้อข้าวจากตลาดเพื่อส่งออกได้มากขึ้น ทำให้ส่วนต่างราคาเทียบกับประเทศคู่แข่งลดลง เพราะว่าราคารับจำนำ 12,000 บาทต่อตัน หรือกว่า 400 ดอลลาร์ต่อตัน ไม่ต่างจากตลาดโลกมาก แม้คู่แข่งอย่างเวียดนามพยายามดั๊มพ์ราคาไปอีกก็ตาม

"ข้าวปีนี้ยังมีอยู่มากเกินความต้องการของตลาดอยู่ สภาพอากาศดี ไทย อินเดีย เวียดนาม ผลิตข้าวได้มาก ในส่วนของยอดการผลิต จะไปอยู่ที่ 29 ล้านตัน"

"วราเทพ" ชี้ ข้าวเหลือน้อยแค่ 2 ล้านตัน

นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.นัดพิเศษ มีมติรับทราบผลประชุมของ กขช. ที่ให้ปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2556 ลงเหลือ 12,000 บาทต่อตัน จาก 15,000 บาทต่อตัน มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. นี้ พร้อมทั้งกำหนดเพดานการรับจำนำข้าวไม่เกินครัวเรือนละ 5 แสนบาท มีผลวันนี้ (20มิ.ย.) เนื่องจากที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงโครงการว่าใช้งบประมาณและมีผลดำเนินงานค่าใช้จ่ายสูง จึงต้องมีการปรับลดราคารับจำนำและปริมาณการรับจำนำลงมา

"การลดราคาจำนำข้าวครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลกเปลี่ยนแปลงไป เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น และปริมาณข้าวในตลาดโลกมีเพิ่มขึ้น และเพื่อรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศ นำไปสู่การจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในปี 2560 ส่วนเป้าหมายการรับจำนำอยู่ที่ 22 ล้านตัน ขณะนี้มีเกษตรกรนำข้าวมาเข้าโครงการแล้ว 19 ล้านตัน"นายวราเทพ กล่าว

กิตติรัตน์ชี้โอกาสปรับนาปี เพิ่มอิงตลาดโลก

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในที่ประชุม ครม. ว่า สำหรับโครงการรับจำนำข้าวในปีฤดูกาลผลิต 2556/57 ให้กระทรวงพาณิชย์ระบุให้ชัดเจนว่า จะใช้ราคารับจำนำข้าวเท่าไร ต้องพิจารณาราคาข้าวในตลาดโลกขณะนั้นด้วยว่าทิศทางเป็นอย่างไร กระทรวงการคลังต้องการได้ตัวเลขที่แน่นอนของราคารับจำนำ เพื่อใช้วางแผนการใช้งบประมาณ และต้องวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้รัดกุม

นักวิชาการชี้ต้องมีคนรับผิดชอบ

นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวถึงการปรับลดราคาจำนำข้าว ซึ่งไม่ตรงกับที่รัฐบาลเคยแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ว่า โดยหลักการสามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่ต้องชี้แจงกับประชาชนให้เข้าใจ การที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้ ย่อมถือเป็นสัญญาประชาคม หากดำเนินการไปแล้วมีความผิดพลาดและไม่สามารถทำได้ตามสัญญา ในทางการเมืองจำเป็นต้องมีผู้รับผิดชอบ เช่น อาจต้องปรับรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีต้องออกแถลงให้ชัดเจน เนื่องจากการเปลี่ยนสาระสำคัญของโครงการน่าจะทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อย ไม่พอใจ

"อภิสิทธิ์" จี้รับผิดชอบทางการเมือง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่ได้ต้องการลดการช่วยเหลือเกษตรกร แต่การลดราคาจำนำเหลือ 12,000 บาท กระทบเกษตรกรเป็นหลัก ซึ่งเกษตรกรก็ท้วงติงเพราะเป็นห่วงว่าระบบการค้าขายข้าวจะพัง ราคา 12,000 บาท สูงกว่าราคาตลาดก็ยังไม่ได้แก้ปัญหา ยังเป็นระบบเดิมที่รัฐบาลรับซื้อข้าว โดยจะเป็นผู้ค้าเกือบรายเดียวต่อไป ต้นทุนข้าวยังสูงกว่าราคาตลาด

ทั้งนี้ ครม. ก็ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะว่าแถลงนโยบายแล้วปฏิบัติไม่ได้ ก็ต้องมาอธิบายกับสภา ส่วนตัวมองเรื่องความรับผิดชอบทางการเมือง รวมทั้งรัฐบาลก็ได้แถลงไว้กับผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมดด้วย

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

TREA on Facebook


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2013 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.