ุ
นางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังคณะทำงานดำเนินการระบายข้าว เปิดซองและเจรจาต่อรองราคากับผู้ยื่นซองประมูลเสนอซื้อข้าวสต๊อกรัฐบาลปริมาณ 2.1 แสนตัน เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า เบื้องต้นอนุมัติขายข้าวขาว 5% ปีผลิต 2554/55 และ 2555 เพื่อการส่งออกให้กับเอกชน 2 ราย ปริมาณรวม 3 หมื่นตัน เพราะเสนอราคาสูงกว่าการยื่นเสนอสองรอบที่ผ่านมา ส่วนข้าวหอมจังหวัดและข้าวเหนียว เสนอซื้อราคาต่ำ จึงไม่มีการอนุมัติขาย โดยจะเสนอความเห็นชอบต่อนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ต่อไป
นางปราณีกล่าวว่า การเปิดประมูลข้าว 2.1 แสนตัน ซึ่งเป็นการเปิดประมูลรอบ 3 ของเดือนสิงหาคม มีผู้เสนอราคาไม่มาก ซึ่งจะรายงานผลการประมูลทั้งสามรอบต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการระบายข้าว ที่มี นายนิวัฒน์ธำรงเป็นประธาน วันที่ 22 สิงหาคมนี้ เพื่อทบทวนแนวทางการระบายสต๊อกข้าวรัฐบาลต่อไป
"สังเกตได้ว่าที่มายื่นประมูลข้าว แค่มายื่นแต่ไม่ตั้งใจซื้อ ซึ่งเอกชนส่วนใหญ่ระบุถึงปัญหาในการไปดูโกดังข้าวที่ระบายไม่พร้อม ก็จะนำข้อมูลมาทบทวนต่อไป" นางปราณีกล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ช่วงเดือนสิงหาคม 2556 กระทรวงได้ส่งเงินคืนกระทรวงการคลังจากการระบายข้าวสต๊อกรัฐบาล ได้เพิ่มประมาณ 3,807 ล้านบาท ทำให้ยอดเงินส่งคืนกระทรวงการคลัง ตั้งแต่กลางปี 2555 จนถึงปัจจุบัน รวมประมาณ 1.4-1.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเงินจากการระบายสต๊อกข้าวใหม่ที่ได้จากโครงการรับจำนำปี 2554/55 และโครงการรับจำนำ 2555/56 ประมาณ 1.14 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินจากการขายข้าวสต๊อกเก่า ถึงสิ้นปี 2556 เป้าหมายจะส่งให้ครบ 2 แสนล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานจากการเปิดระบายทั่วไป 3 ครั้ง รวม 7 แสนตัน แต่สามารถอนุมัติขายได้จริงเพียง 2.4 แสนตัน ซึ่งต่ำกว่ากระทรวงพาณิชย์ประเมินไว้กว่า 50% สำหรับเอกชนที่เสนอราคาสูงตามเกณฑ์ในครั้งล่าสุด คือ บริษัท ไชยพรไรซแอนด์ฟู๊ดโปรดักส์ จำกัด และ บริษัท เอเชียโกเด้นไรซ์ จำกัด จาก 7 ราย
นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2556 จำนวน 1.5 ล้านไร่ วงเงินทั้งสิ้น 494 ล้านบาท เพื่อให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำไปดำเนินการโครงการประกันภัยข้าวนาปี โดยแบ่งการประกันภัยเป็น 5 พื้นที่ตามความเสี่ยง พื้นที่เสี่ยงสูงสุดจะต้องเสียเบี้ยประกัน 475 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงต่ำสุดเสียเบี้ยประกัน 120 บาทต่อไร่ เกษตรกรจ่ายเบี้ยประกันตั้งแต่ 60-100 บาทต่อไร่ และรัฐอุดหนุนเบี้ยประกันในส่วนที่เหลือ 69.97-410.39 บาทต่อไร่ และภายในสัปดาห์นี้ได้นัดหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และ ธ.ก.ส.เพื่อพิจารณารายละเอียดในการขยายโครงการประกันภัยนาข้าวให้ครอบคลุมพื้นที่ 60 ล้านไร่ทั่วประเทศ
ที่มา นสพ.มติชน
|