ุ
การส่งออกข้าวไทยไปตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ปี 2555 ลดลงมาก โดยอียูนำเข้าเพียง 2.92 แสนตัน ลดลงถึง 40% จากปี 2554 ที่นำเข้า 4.88 แสนตัน แบ่งเป็นการนำเข้าข้าวหอมมะลิ 1.92 แสนตัน ลดลง 18% จากปี 2554 ที่นำเข้า 2.32 แสนตัน ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 3,000 ตัน ลดลง 6% จากปี 2554 ที่นำเข้า 3,200 ตัน เป็นต้น
นายทิฆัมพร นาทวรทัต รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สาเหตุที่อียูนำเข้าข้าวจากไทยลดลง เพราะภาวะเศรษฐกิจของอียูซบเซา และค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ประกอบกับราคาข้าวไทยสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ผู้บริโภคจึงเลือกซื้อข้าวคุณภาพรองราคาถูกจากพม่า กัมพูชา และเวียดนามแทน รวมทั้งกัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) จากอียูด้านภาษีนำเข้า 0% ทำให้ข้าวกัมพูชาถูกกว่าไทยมาก ประกอบกับข้าวหอมกัมพูชามีลักษณะใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิไทยด้วย
ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจซบเซาของอียู ทำให้ผู้บริโภคข้าวในยุโรปส่วนใหญ่หันไปเลือกซื้อข้าวคุณภาพรองที่มีราคาถูกแทน โดยเฉพาะผู้ซื้อในกลุ่มภัตตาคารและร้านอาหารที่ต้องการลดต้นทุน ส่วนผู้บริโภคภาคครัวเรือนนั้น ข้าวไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ได้ เพราะยังเชื่อมั่นในคุณภาพและมีความต้องการบริโภคข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แม้ปริมาณส่งออกข้าวจะลดลง แต่กระทรวงพาณิชย์มีเป้าหมายส่งออกข้าวเน้นมูลค่ามากกว่าปริมาณ โดยจะยกระดับคุณภาพมาตรฐานข้าวเพื่อทำให้ราคาส่งออกสูงขึ้น หลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่ง โดยกรมได้รับจัดสรรงบดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสินค้าข้าวในทุกตลาดเพื่อรับมือการแข่งขันที่รุนแรง รวมทั้งจัดคณะผู้แทนการค้าภาครัฐและเอกชนไปเจรจารักษาและขยายตลาด
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวปี 2556 ที่ 8.5 ล้านตัน มูลค่า 5,700 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเดือน ม.ค. ส่งออกแล้ว 5.64 แสนตัน มูลค่า 392 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนเดือน ก.พ. คาดจะส่งออกได้ 5.8 แสนตัน เพิ่มขึ้น 2.8% จากเดือน ม.ค. เพราะเชื่อว่าตลาดประจำอย่างแอฟริกาจะยังคงสั่งซื้อข้าวนึ่งชั้นดี หรือข้าวขาวจากไทย รวมทั้งผู้ส่งออกมีโอกาสชนะการประมูลนำเข้าข้าวของอิรักและญี่ปุ่น แม้ว่าผู้นำเข้าส่วนใหญ่จะยังคงสั่งซื้อจากเวียดนามที่ราคาต่ำกว่าไทยมาก
ที่มา โพสต์ทูเดย์
|