|
กมธ.เร่งหามาตรการแทนจำนำก่อนอุตสาหกรรมข้าวล่ม
|
ุ
นายประวัติ ทองสมบูรณ์ รองประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการได้เปิดรับฟังความเห็นจากนักวิชาการ และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบมา 5-6 ครั้ง คาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้จะสามารถสรุปผลการศึกษามาตรการดูแลอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ เพื่อเป็นทางเลือกแทนการใช้นโยบายรับจำนำที่มักจะมีปัญหาเรื่องการทุจริตอย่างต่อเนื่อง โดยจะนำเสนอที่ประชุมรัฐสภาในสมัยหน้า
"แม้การรับจำนำเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร แต่มักเกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง อาทิ ไม่สามารถระบายข้าว ทำให้ต้องเก็บข้าวนานจนคุณภาพเสื่อม ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ การขายข้าวรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) ไม่เห็นผล ที่ผ่านมาการประชุมส่งเจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการและรองอธิบดีมาให้ข้อมูล ถามว่าสต๊อกปี 2554/2555 เหลือเท่าไหร่ ขายเท่าไหร่ ไม่บอก หรือบอกไม่ตรงตามที่ขอ สิ่งสำคัญคือ ไม่ว่าสถานการณ์ผลิตข้าวจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เช่น ปีนี้ภัยแล้งกระทบผลผลิตข้าวลดลง แต่รัฐบาลใช้วิธีการดูแลเกษตรกรด้วยการรับจำนำเช่นเดิม ถึงอ้างว่าใช้เงินไม่มาก 1-2 แสนล้านบาท และขาดทุนไม่มาก แต่ระยะยาวทำไม่ได้ เพราะจะแข่งขันกับตลาดเพื่อนบ้านอาเซียนได้อย่างไร"
สำหรับขอบเขตการศึกษาไปถึงแนวทางการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ทางบริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด เสนอให้ใช้ระบบเดียวกับคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง ซึ่งบริษัทเริ่มดำเนินการแล้ว 5 ล้านไร่ในพื้นที่ภาคกลาง โดยให้ใช้เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืชของบริษัท ตามระบบที่ได้ศึกษาวิจัยไว้สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจาก 1,500-1,600 กิโลกรัม เป็น 1,800 กิโลกรัมต่อไร่ อยู่ระหว่างประเมินผลว่าเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นเพียงใด นอกจากนี้ จะศึกษาแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวเพื่อทำการตลาด เช่น การผลิตข้าวให้ได้มาตรฐานฮาลาล เป็นต้น
นอกจากนี้ ทางกรรมาธิการเตรียมจะขยายผลการศึกษาผลกระทบจากมาตรการรับจำนำว่า จะขัดต่อหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO) หรือไม่ โดยจะเชิญตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าว
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกรอบ 2 ฤดูกาลผลิต 2556 เริ่มเดือนเมษายน 2556 ว่า ตั้งแต่วันที่ 1-16 เมษายน 2556 มีเกษตรกรนำข้าวเปลือกมาจำนำแล้ว 1.12 ล้านตัน ขณะนี้เจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อม ณ จุดรับจำนำและโรงสีที่เข้าโครงการ โดยพื้นที่ใดมีโรงสีไม่เพียงพอจะพิจารณาเปิดข้ามเขต อาทิ ชัยภูมิ บึงกาฬ และหนองบัวลำภู เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันมากกว่า 30-60% ของผลผลิตรวม สำหรับหลักเกณฑ์การรับจำนำรอบ 2 ให้เกษตรกรสามารถนำโฉนดที่ดินมาเป็นหลักฐานการขึ้นทะเบียนรับรองเกษตรกรเพื่อใช้สิทธิ์ได้ โดยกำหนดให้ที่ดิน 1 แปลง ใช้สิทธิ์ 2 รอบ
ส่วนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกรอบแรก ฤดูกาลผลิตปี 2555/56 สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2556 มียอดรับจำนำแล้ว 13.4 ล้านตัน ใช้เม็ดเงิน 185,833 ล้านบาท เหลือเงินอีก 54,167 ล้านบาท ได้สั่งทยอยสีแปรสภาพ และส่งมอบข้าวเข้าคลังกลางถึงวันที่ 30 เมษายนนี้ โดยเปิดคลังกลาง 479 แห่ง และไซโลกลาง 26 แห่ง มีความจุ 70 ล้านกระสอบ หลังรับมอบข้าวแล้วโรงสีสามารถเข้าร่วมรับจำนำรอบ 2 ได้ ส่วนคลังกลางที่ระบายข้าวออกแล้วสามารถรับข้าวจากโครงการรับจำนำรอบ 2 ได้ แต่ให้แยกกอง โดยใช้สีเชือกเย็บติดกระสอบ เพื่อแบ่งสีข้าวแต่ละชนิดในแต่ละปี
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
|
|
|
 |
|
© Thai Rice Exporters Association
37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678
E-mail : contact@thairiceexporters.or.th
Copyright © 2013 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.
|
|
|