www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

เทรดเดอร์ดาหน้าถล่มข้าวไทย ขายไม่ออกแพงเว่อร์ 560 เหรียญ


ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานการประชุมข้าวนานาชาติปี 2556 (Thailand Rice Convention 2013) เมื่อต้นสัปดาห์ที่จังหวัดเชียงใหม่ ท่ามกลางการจับตาของเทรดเดอร์ ผู้แทนประเทศผู้ปลูกข้าว และประเทศผู้นำเข้าข้าวที่ว่า รัฐบาลไทยจะการเปลี่ยนแปลงนโยบายการรับจำนำข้าวปี 2556/57 หรือไม่ หลังจากรับจำนำมาแล้ว 3 ฤดูกาลเพาะปลูก และประสบปัญหาขาดทุนไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท

ระหว่างการประชุม นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันจะระบายข้าวสต๊อกรัฐบาลด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ หรือ G to G ต่อไป โดยอ้างว่าได้เจรจาขายให้กับรัฐมนตรีการค้าหลายประเทศที่เข้าร่วมประชุม

"โตโก สนใจซื้อข้าวขาวจากไทยโดยตรง จากเดิมที่ซื้อผ่านโบรกเกอร์ คาดว่าหลายแสนตัน และจะเจรจาให้เสร็จในปีนี้ อีกทั้งไทยอยู่ระหว่างการยกร่างบันทึกความตกลง (MOU) ซื้อขายข้าวขาว G to G กับเกาหลีใต้ เบื้องต้น 1 ล้านตันต่อปี และยังมีอีกหลายประเทศที่อยู่ระหว่างเจรจา เช่น ในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง รวมถึงจีน หากนับปริมาณที่เสนอซื้อเข้ามาในตอนนี้ คาดว่าข้าวในสต๊อกรัฐบาลแทบจะไม่พอขาย และทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าข้าวโลก และยังยืนยันเป้าหมายการส่งออกข้าวที่วางไว้ 8.5 ล้านตัน ขณะเดียวกันจะส่งเงินคืนกระทรวงการคลังได้ตามแผน มีเงินเพียงพอใช้ในโครงการรับจำนำปี 2556/2557 แน่นอน" นายบุญทรงกล่าว

อย่างไรก็ตาม เทรดเดอร์ค้าข้าว รวมทั้งหน่วยงานรับซื้อข้าวของรัฐบาลประเทศคู่แข่ง มองตลาดข้าวของประเทศไทยต่างออกไป โดย Mr.Jeremy Zwinger ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท The Rice Trader กล่าวว่า ไทยน่าจะส่งออกข้าวในปีนี้ได้แค่ 6.5 ล้านตัน และอีก 3 ไตรมาสที่เหลือ ไทยจะต้องส่งออกเชิงรุก เพราะช่วงปีที่ผ่านมา เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น 5.15% เมื่อเทียบกับอินเดียที่อ่อนค่าลง 28.91% ย่อมจะมีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ราคาข้าวไทยแพงเป็นอันดับ 2 รองจากข้าวสหรัฐ แต่ยิ่งแตกต่างจากคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดียมากเกิน 70 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือต่างกันมากที่สุดในรอบ 20-30 ปี

"ข้าวขาว 5% ของไทยราคาตันละ 560 เหรียญสหรัฐ แต่เวียดนามและอินเดียขายอยู่ราว ๆ 390 เหรียญสหรัฐ ซึ่งมันเป็นราคาที่ต่ำเกินไปหรือไม่ แต่ราคาที่ต่างกันอย่างนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในระยะยาว ตลาดข้าวเป็นตลาดเสรีหรือไม่ หรือระบบการเมืองที่ต่างมีส่วนสัมพันธ์กับช่วงต่างของราคาข้าวในแต่ละประเทศ"

Mr.Michael J.S.Lim ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท Hyolim จำกัด ประเทศเกาหลี กล่าวว่า ปีนี้จะนำเข้าข้าว 388,000 ตัน เพิ่มจากปีก่อนที่ซื้อทั้งหมด 368,000 ตัน มีทั้งซื้อจากข้าวเมล็ดยาวจากไทย และที่เหลือซื้อชนิดอื่นจากสหรัฐ-จีน

"แม้ว่าจะมีการนำเข้าข้าวเมล็ดยาวแบบของไทย แต่ก็มักมีปัญหาไปขายต่อในตลาดได้ลำบาก อย่างปีก่อนเคยนำเข้าข้าวไทย 30,000 ตัน รัฐบาลเกาหลีต้องเก็บสต๊อกข้าวนั้นไว้ในคลัง ไม่รู้จะทำอย่างไร ปีหน้าข้อกำหนดเรื่องการนำเข้าจะหมดอายุ แต่ต้องมีการเจรจากันว่าจะตัดสินใจเปิดตลาดหรือไม่ แต่หากเทียบราคาแล้ว ข้าวสหรัฐราคา 24,024 วอน ถูกกว่าข้าวไทยที่ 24,866 วอนต่อ 20 กก. รัฐบาลไทยจะลดราคาได้ไหม"

นายซูทาร์โต อลิโมโซ ประธานหน่วยงานนำเข้าข้าวของอินโดนีเซีย (บูล็อก) กล่าวว่า ในปีนี้ยังไม่มีแผนที่จะนำเข้าข้าวทั้งจากเวียดนามและไทย เพราะสต๊อกข้าวยังมีอยู่และผลผลิตในประเทศก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากนโยบายรัฐบาลอินโดนีเซียกำลังส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตข้าวและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้การบริโภคในประเทศเพียงพอและลดการนำเข้าข้าว ทำให้ปีที่ผ่านมามีการนำเข้าข้าวเพียง 600,000 ตัน ลดลงจากปี 2555 ที่มีการนำเข้า 1.8 ล้านตัน

ขณะที่ Mr.Orlan A Calayag ประธานหน่วยงานนำเข้าข้าวฟิลิปปินส์ กล่าวว่า แม้ว่าฟิลิปปินส์เป็นประเทศนำเข้าข้าวรายใหญ่ แต่รัฐบาลมีแผนงาน 10 ปี (2554-59) มุ่งเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก เพิ่มผลผลิต ขยายระบบชลประทานขนาดเล็กเพิ่ม 108 โครงการจัดสรรน้ำให้กับพื้นที่ 5,000 เฮกตาร์ และสร้างแรงจูงใจโดยการปรับราคาให้เหมาะสมกับตลาด คาดว่าผลผลิตเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น 3.3% หรือราว 15 ล้านตันต่อปี ช่วยลดการนำเข้าข้าวลง

ด้าน Mr.David Dawe นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส องค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ (FAO) กล่าวว่า ส่วนต่างราคาข้าวไทยและเวียดนามในช่วง 10 ปี นับจาก 2546-2556 ต่างกันถึง 45% ถือว่าไม่เคยเห็นกันมาก่อน ขณะที่ราคาข้าวในตลาดอาเซียนทั้งค้าส่งและค้าปลีกก็เพิ่มขึ้น 10-20% โดย FAO ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลไทย ให้ราคารับซื้อข้าวจากชาวนาในปัจจุบันเพิ่มขึ้น 60% สูงที่สุดกว่าจีนและอินเดียที่จะให้ราคารับซื้อข้าวเพิ่มแค่ 20% และบังกลาเทศเพียง 10% สอดคล้องกับความเห็นของนางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึงการส่งออกข้าวไทยว่า อยู่ในภาวะชะลอตัว โดย 4 เดือนแรกส่งออกได้แค่ 2 ล้านตัน ทางเอกชนเตรียมทบทวนเป้าหมายส่งออกช่วงครึ่งปีหลัง จะส่งออกได้ 6.5 ล้านตันหรือไม่ เพราะมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน ราคาพื้นฐานของข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่งมาก

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

 

TREA on Facebook


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2013 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.