ุ
วานนี้ (29 ก.ค.) กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดซองประมูลข้าวในสต็อกรัฐบาล หลังจากให้เอกชนเข้ายื่นซองเสนอซื้อปริมาณรวม 3.5 แสนตัน เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีผู้ส่งออกให้ความสนใจยื่นซองเพียง 5 รายเท่านั้น
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผลการเปิดซองประกวดราคาข้าวสารในสต็อกรัฐบาล ที่ได้จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ฤดูกาล 2554/55ปริมาณรวม 3.5 แสนตัน แยกเป็น ข้าวขาว 5% จำนวน 1.5 แสนตัน และปลายข้าวเอวันเลิศ จำนวน 2 แสนตันนั้น เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถอนุมัติขายข้าวสาร ในสต็อกรัฐบาลได้ประมาณ 9 หมื่นกว่าตัน แบ่งเป็น ข้าวขาว 5%ปริมาณกว่า 6 หมื่นตัน ให้กับ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท แคปปิตัลซีเรียวส์,บริษัท เอเชีย โกลเด้น ไรซ์ และบริษัท ไชยพรไรซแอนด์ฟู้ดโปรดักส์
ส่วนปลายข้าวเอวันเลิศนั้นคาดว่าจะอนุมัติขายประมาณ 3 หมื่นตันให้กับบริษัท พงษ์ลาภ โดยการอนุมัติขายให้บริษัททั้งหมด เนื่องจากบริษัทเหล่านี้เสนอราคาซื้อใกล้เคียงกับราคาตลาด ซึ่งผ่านเกณฑ์ราคากลางที่คณะอนุกรรมการระบายข้าวกำหนดไว้ ส่วนบริษัทเอกชนที่ไม่ได้รับการอนุมัติ เพราะเสนอราคาต่ำกว่าราคาตลาดมาก
"แม้การระบายครั้งนี้ต่ำกว่าการเปิดให้ยื่นที่ 3.5 แสนตัน หรือต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็มั่นใจว่าการเปิดประมูลรอบต่อไป จะมีเอกชนเข้ามาร่วม ประมูลมากขึ้น" นายนิวัฒน์ธำรง กล่าว
เชื่อเปิดรอบต่อไปผู้ส่งออกยื่นมากขึ้น
นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า กรณีภาคเอกชนระบุว่ามีผู้เข้าประมูลน้อยรายนั้นมีความเป็นไปได้ที่การประมูลครั้งนี้เป็นครั้งแรกเท่านั้น ซึ่งผู้ประมูลอาจจะเตรียมตัวไม่ทัน แต่เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีผู้ประมูลมากขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์พร้อมรับข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย
"หลังผ่านการประมูลครั้งนี้ไป คาดว่าจะจัดให้มีการประมูลข้าวสต็อกรัฐบาลเดือนละ 2 ครั้ง โดยยืนยันว่าหากเสนอราคาต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด จะไม่มีการเจรจาต่อรองราคาเพื่อขายข้าวให้แน่นอน"
นางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า แม้การยื่นซองประมูลข้าวครั้งนี้ จะมีเอกชนยื่นประมูลน้อยราย แต่เป็นเอกชนรายใหญ่ คิดเป็น 70% ของส่วนแบ่งตลาด และเชื่อว่าจะสามารถอนุมัติขายได้ราคาที่เหมาะสม
จับตายื่นซื้อข้าวเปลือกทำข้าวนึ่งวันนี้
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า วันนี้ (30 ก.ค.) จะมีการเปิดให้ยื่นซองประมูลข้าวเปลือกเจ้า 5% ณ โรงสี ตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกรอบ 2 ปี 2555/56 ปริมาณ 2 แสนตัน สำหรับการแปรรูปเป็นข้าวนึ่งเพื่อส่งออก ซึ่งต้องจับตามองว่าจะมีเอกชนรายใด สนใจเข้าร่วมยื่นซองหรือไม่ หลังจากที่ภาคเอกชนแสดงความกังวลเงื่อนไขทีโออาร์ ซึ่งไม่สามารถปฏิบัติได้จริง
ทีโออาร์ระบุแค่เพียงว่าจะเปิดประมูลข้าวเปลือก เพื่อปรับปรุงเป็นข้าวนึ่ง แต่ไม่ได้บอกคุณภาพและเกรดชนิดข้าวนึ่ง ทำให้อาจเกิดปัญหาระหว่างผู้ส่งออกและโรงสีที่จะเข้าร่วมประมูลในทางปฏิบัติ
"รัฐบาลเรียกผู้ส่งออกทำข้าวนึ่งไปหารือ แต่กลับกำหนดเงื่อนไขการประมูลไม่ชัดเจน ผู้ส่งออก จึงไม่กล้าจะเสี่ยงนำเอาออร์เดอร์สั่งซื้อไปวาง เพราะหากโรงสีส่งมอบข้าวไม่ได้ ผู้ส่งออกจะต้องเสียทั้งค่าค้ำประกันการขายและเสียลูกค้า"
นอกจากนี้ราคาส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งของไทยสูงกว่าคู่แข่งมาก หากรัฐบาลต้องการจะระบายข้าวให้ได้ ต้องลดราคาให้อยู่ใกล้เคียงกับคู่แข่ง เช่น ลดลงให้ใกล้เคียงกับราคาตลาดตันละ 400 ดอลลาร์เพื่อให้แข่งขันได้ เพราะไทยมีสต็อกข้าวสูง 17-18 ล้านตันที่ต้องระบายเอกชนผวาขาดทุนข้าวเสื่อมคุณภาพ
แหล่งข่าวผู้ส่งออกข้าว กล่าวว่า การที่ผู้ส่งออกยื่นเสนอข้าวสต็อกรัฐน้อยราย เนื่องจากรัฐกำหนดเงื่อนไขให้ซื้อยกโกดังและโกดังส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดภาคกลางตอนบนของกลุ่มโรงสี ไม่ได้เป็นโกดังที่ภาคเอกชนเปิดรับฝากสต็อกรัฐ เพราะฉะนั้นจึงไม่มั่นใจว่าข้าวในโกดังมีคุณภาพเพียงพอในการปรับปรุงเพื่อส่งออกหรือไม่ เพราะหากเป็นข้าวเสื่อมคุณภาพในแต่ละโกดัง 30-40 % ภาคเอกชนก็ไม่สามารถรับภาระการขาดทุนได้
"สัญญาณมาตั้งแต่ช่วงเช้าวันยื่นซอง ไม่มีใครไปยื่นเลย พอช่วงบ่ายก็ไปยื่นกันเพียง 5 รายเท่านั้น ผู้ส่งออกไม่อยากเข้าไปยื่น เพราะหากเจอข้าวเสื่อมคุณภาพขึ้นมาต้องแบกภาระขาดทุนเอง ผู้ที่เข้าไปยื่นก็จำใจ ที่พอจะเลือกๆได้บ้าง ปริมาณที่ขายจึงออกมาไม่ถึงแสนตัน ทั้งที่เปิดถึง 3.5 แสนตัน ในส่วนปลายข้าวเปิด 2 แสนตัน แต่ขายออกไปแค่ 3 หมื่นตันเท่านั้น"
คาดขายได้ราคาต่ำแค่ 1.1 หมื่นบาท/ตัน
แหล่งข่าว กล่าวว่า ข้าวที่รัฐบาลเคาะขายให้ผู้ส่งออกรอบนี้ประมาณ 9 หมื่นตันนั้น เชื่อว่าราคาที่ได้ต่ำกว่าราคาตลาดมาก แม้จะมีการเจรจาต่อรองแล้วก็ตาม โดยราคาตลาดข้าวขาว 5 % โค้ดโดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยราคา 527 ดอลลาร์ต่อตัน หรือ 15,810 บาทต่อตัน ขณะที่ปลายข้าวเอวันเลิศโค้ดราคาที่ 511 ดอลลาร์ต่อตัน หรือ 15,330 บาทต่อตัน แต่การตกลงระบายรอบนี้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 11,000บาทต่อตันโดยประมาณเท่านั้น
ชาวนาปัดราคาจำนำ 1.5หมื่นบาท
ในส่วนของโครงการจำนำฤดูกาลใหม่ นั้น มีความคืบหน้าจากตัวแทนเกษตรกร โดยนายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ในวันที่ 1 ส.ค. 2556 กลุ่มเกษตรกรจะมีการหารือร่วมกับกรมการค้าภายในอีกครั้ง โดยยังคงยืนยันให้รัฐบาลรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าฤดูกาลผลิตปี 2556/57 ที่ตันละ 15,000 บาท หลังจากนำผลหารือ 1.35 หมื่นบาทต่อตันไปหารือ ปรากฏว่าชาวนาทั่วประเทศไม่ยอมรับและมีการลดราคาเฉพาะข้าวขาวเท่านั้น ส่วนข้าวชนิดอื่นๆ ยังคงราคารับจำนำไว้เท่าเดิม
รายงานข่าวแจ้งว่า ล่าสุดกรมการค้าภายใน ได้ออกมาระบุว่า จะปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าเหลือเพียงตันละ 12,000 บาท โดยให้เหตุผลว่าได้มีการหารือกับกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว เห็นตรงกันว่าควรปรับลด และเป็นไปตามวินัยการเงินการคลัง ที่ไม่ให้รัฐต้องขาดทุนจากโครงการรับจำนำเกินปีละ 70,000 ล้านบาท โดยจะหารือกับเกษตรกร ก่อนเสนอผลให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณาต่อไป
เอกชนชี้ลดจำนำกระทบกำลังซื้อ
ว่าที่ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับลดราคารับจำนำข้าวของรัฐบาลล เหลือ 13,500 บาทต่อตันหรือ 12,000 บาทต่อตัน นั้น เท่าที่หารือกับกรรมการหอการค้าทั่วประเทศส่วนใหญ่ มองตรงกันว่ารัฐบาลไม่ควรปรับลด แต่ควรจะหาวิธีการจูงใจให้รับจำนำข้าวในราคาเดิม แต่ให้ได้คุณภาพข้าวที่ดีเหมือนเดิม
นโยบายรับจำนำข้าวได้ส่งผลให้แรงงานไหลไปสู่ภาคเกษตร แต่เมื่อเกิดความไม่แน่ใจว่า เดือน ก.ย.นี้รัฐบาลจะปรับลดราคาลงหรือไม่ ก็ทำให้ชาวนาบางส่วนชะลอการชะการบริโภคลงแล้ว ซึ่งหากปรับลดราคารับจำนำลงก็เท่ากับว่าลดกำลังซื้อของชาวนาลง ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|