ุ
“กขช.” นัดถกแก้ราคาข้าวร่วงสัปดาห์หน้า หลังผลผลิตนาปรัง 6-7 ล้านตันเริ่มทยอยออกสู่ตลาด ด้านกรมการค้าภายในถกโรงสี ผู้ส่งออก กระทรวงเกษตรฯ หาแนวทางแก้ชงกขช.เคาะ เล็งเสนอให้เลิกขายข้าวแบบทางตรงให้ผู้ส่งออก เน้นระบายผ่านเอเฟต-ประมูลทั่วไป ระบุเป็นวิธีการที่สามารถคาดการณ์ปริมาณและราคาข้าวที่จะออกสู่ตลาดได้ แจงไม่กระทบแผนคืนเงินคลัง ด้าน “นิวัฒน์ธำรง” พร้อมแจงปปช.ปมจำนำ
สถานการณ์ราคาข้าวได้ตกต่ำลงอย่างหนักหลังจากรัฐบาลยุติโครงการจำนำข้าวเมื่อ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ประกอบกับการเร่งระบายข้าวออกจากสต็อกของรัฐบาล เป็นสาเหตุสำคัญให้ราคาข้าวร่วงลงจากที่ชาวนาขายได้ 1.1 หมื่นบาทต่อตัน เหลือเพียง 5.5-7 พันบาทต่อตัน ตามแต่ละพื้นที่และคุณภาพข้าว
สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้กรมการค้าภายใน ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติหรือกขช. เตรียมเสนอให้ที่ประชุมกขช.หาทางออกเพื่อบรรเทาปัญหาให้กับชาวนา
นายสมชาติ สร้อยทอง อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมหารือมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาตลาดข้าวภายในประเทศและการช่วยเหลือเกษตรกร ว่า ในสัปดาห์หน้าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธานพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกในประเทศตกต่ำ
เลิกวิธีขายตรงให้ผู้ส่งออก
โดยใช้แนวทางการชะลอระบายข้าว ด้วยวิธีการขายโดยตรง หรือการนำคำสั่งซื้อต่างประเทศ มาเสนอกับกรมการค้าต่างประเทศโดยตรง เนื่องจากเป็นวิธีที่ไม่สามารถทราบถึงราคาและปริมาณจำหน่ายได้ แต่ให้คงวิธีการระบายผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (เอเฟต) และการเปิดประมูลเป็นการทั่วไป โดยให้เพิ่มปริมาณการระบายผ่านทั้งสองวิธี เพื่อไม่ให้กระทบกับแผนการหาเงินมาส่งคืนกระทรวงการคลังและแผนการจ่ายเงินค่าข้าวให้ชาวนาที่ร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2556/57
“ในที่ประชุมกขช.สัปดาห์หน้า นอกจากประเด็นหารือเรื่องอื่นๆ แล้วก็จะมีการพิจารณาว่าการชะลอขายข้าวแบบทางตรง น่าจะช่วยทำให้ปริมาณข้าวที่จะออกสู่ตลาดน้อยลง และช่วยพยุงให้ราคาข้าวดีขึ้น เพราะตอนนี้ข้าวเปลือกนาปรังกำลังออกสู่ตลาด ช่วง มี.ค.-เม.ย.นี้ โดยปริมาณข้าวจริงน่าจะอยู่ที่ 6-7 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งต่ำกว่าปริมาณคาดการณ์ไว้ที่ 10 ล้านตันข้าวเปลือก” นายสมชาติ กล่าว
ข้าวความชื้น15%ราคา7.2-7.7พัน/ตัน
สำหรับสถานการณ์ราคาข้าวขณะนี้ เริ่มปรับตัวดีขึ้น จากปัจจัยไนจีเรียลดภาษีนำเข้าทำให้มีคำสั่งซื้อข้าวนึ่งเพิ่มขึ้นส่งผลต่อราคาข้าวเปลือกโดยตรง และปัจจัยผลกระทบภัยแล้ง โดยราคาข้าวเปลือกปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกิโลกรัม (กก.)ละ 30-40 สตางค์ ทำให้ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น (15%) เฉลี่ยที่ตันละ 7,200-7,700 บาท
รายงานข่าวแจ้งว่า ราคาข้าวเปลือกเจ้า ณ วันที่ 26 มี.ค. มีราคาเฉลี่ยที่ตันละ 7,200 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาเฉลี่ยในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ที่ตันละ 7,500 บาท หรือลดลงเฉลี่ย 9.15% โดยมาตรการที่จะดูแลราคาข้าวที่ได้มีการหารือกันในที่ประชุม ได้แก่ การสนับสนุนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าว ที่เข้าซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคานำตลาด การเพิ่มปริมาณสต็อกข้าวของผู้ประกอบการ โดยใช้พ.ร.บ. การค้าข้าว พ.ศ. 2589 จากเดิมให้ผู้ส่งออกสต็อกข้าวไม่น้อยกว่า 500 ตัน เพิ่มเป็น 1,000 ตัน โดยรัฐบาลจะชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ 3% แต่พบว่าทั้งสองวิธีจะขัดกับรัฐธรรมนูญที่ห้ามรัฐบาลรักษาการดำเนินการที่จะด้านงบประมาณที่จะผูกพันกับรัฐบาลชุดต่อไป ที่ประชุมจึงไม่ได้นำทั้งสองมาตรการนี้ให้กขช. พิจารณา
เร่งหาตลาดใหม่-โรดโชว์ขายข้าว
ส่วนมาตรการอื่นๆ ได้แก่ การผลักดันการส่งออกช่วงต้นฤดูและการหาตลาดใหม่ นั้นได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยพิจารณาจัดแผน Road show ต่อไป เช่นเดียวกับการจัดทำตลาดนัดข้าวเปลือก ซึ่งจะให้อนุกรรมการระดับจังหวัดดำเนินการ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่สมบูรณ์ ซึ่งทั้งสองมาตรนี้จะนำเสนอที่ประชุม กขช.พิจารณาต่อไป
แหล่งข่าวผู้ค้าข้าว กล่าวว่า ราคาข้าวขณะนี้เป็นไปตามทิศทางขาลงตามที่เคยคาดการณ์ไว้ เพราะผลผลิตคู่แข่งอย่างเวียดนามทยอยออกสู่ตลาดเช่นเดียวกันและโดยปกติเวียดนามจะไม่เก็บสต็อกข้าว หลังคาดการณ์ผลผลิตพอเพียงบริโภคภายในก็ต้องเร่งรัดระบายออก ขณะที่รัฐบาลไทยเร่งระบายสต็อก เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ชาวนา ซึ่งตลาดรับทราบดี จึงเลือกซื้อในราคาที่ถูกที่สุด ส่งผลให้ราคาข้าวลดต่ำลง ตั้งแต่ราคาส่งออกเอฟโอบี ซึ่งสะท้อนราคาสู่ตลาดภายในประเทศ
"ข้าวไทยจะไม่ลงแรงอย่างนี้ถ้ารัฐบาลไม่เก็บสต็อกไว้นาน เหมือนกับทุ่มตลาดข้าวเข้าไปทีเดียว ราคาก็ต้องทรุด เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องยอมรับความสามารถและในวิธีการบริหารสต็อก"
นิวัฒน์ธำรงโอดให้เวลาน้อยแจงปปช.
นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ในกรณีที่ทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะขอสอบปากคำเพิ่มเติมนั้นขณะนี้กำลังเตรียมข้อมูลและหลักฐาน เพื่อให้พร้อมสำหรับไปให้ปากคำ ซึ่งในเบื้องต้นต้องยอมรับว่า ระยะเวลาในการเตรียมข้อมูล อาจกระชั้นชิดเกินไป และกังวลที่จะมีข้อมูลไม่เพียงพอ แต่จะพยายามรวบรวมข้อมูลและเอกสารให้ครบถ้วนทุกด้าน ทั้งขั้นตอนการรับจำนำข้าว และการระบายข้าว
โดยได้ประสานกับทางทนายความส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์แล้ว เพื่อป้องกันการเตรียมข้อมูลซับซ้อนกัน และวันเวลาที่จะเข้าไปให้ปากคำนั้น ต้องรอประสานกับทางสำนักงาน ป.ป.ช. ก่อน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
|