ุ
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ "ไทยรัฐออนไลน์" ว่า ตนเห็นด้วยกับแนวคิดของกระทรวงพาณิชย์ ที่เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) แก้ปัญหาราคาข้าวในประเทศตกต่ำ ด้วยวิธีชะลอการระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลผ่านวิธีขายตรงให้กับผู้ส่งออกข้าว เนื่องจากวิธีดังกล่าวจะทำให้ไม่สามารถทราบปริมาณข้าวที่จะเข้าสู่ตลาด รวมถึงไม่ทราบราคาขาย และเสนอให้ใช้วิธีการระบายข้าวผ่านการประมูลทั่วไป และประมูลผ่านตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) แทน
ทั้งนี้ การระบายข้าวผ่านตลาดเอเฟตนั้น มีข้อดีคือ เป็นช่องทางที่โปร่งใส มีความเป็นธรรมและสามารถตรวจสอบราคาได้ จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถบรรเทาปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เพราะทุกฝ่ายสามารถรับทราบถึงราคาที่มีการประมูลในแต่ละครั้ง
“การระบายข้าวด้วยวิธีขายให้กับผู้ส่งออกโดยตรง จะมีข้อเสีย ทำให้ไม่สามารถทราบราคาที่มีการซื้อขายกัน เพราะเป็นการขายแบบลับๆ ให้กับผู้ส่งออก ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่าจะต้องขายในราคาที่ถูกมากๆ เพราะฉะนั้น จึงสร้างแรงกดดันให้ราคาข้าวตกต่ำตามไปด้วย และที่สำคัญยังตกเป็นข้อครหาต่อสังคมอีกด้วย ซึ่งทางที่ดีควรระงับแนวทางนี้ไปเลยจะดีที่สุด” นายชูเกียรติ กล่าว
ดังนั้น ต้องยอมรับว่าไม่ว่าจะระบายข้าวด้วยวิธีการใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่จะเป็นวิธีที่กดดันราคาข้าวให้ตกต่ำลงไปทั้งสิ้น ทั้งข้าวในส่วนที่รัฐบาลเร่งระบาย และในขณะนี้ ข้าวเปลือกนาปรังกำลังออกสู่ตลาด โดยปริมาณข้าวจริงคาดว่าจะอยู่ที่ 6-7 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ไม่แตกต่างอะไรกับการที่รัฐบาลและชาวนาขายข้าวแข่งกันเอง
นายชูเกียรติ กล่าวต่อว่า ตราบใดที่รัฐบาลยังต้องระบายข้าว เพื่อหาเงินมาจ่ายชาวนา โอกาสที่ราคาข้าวจะปรับขึ้นยังคงเป็นเรื่องยาก เพราะข้าวในสต๊อกรัฐบาลมีอีกมากมายมหาศาล หากรัฐบาลยังระบายข้าวอย่างต่อเนื่อง ความหวังที่ราคาข้าวจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า ย่อมเป็นไปไม่ได้
“ปัญหาดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับสภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะรัฐบาลไม่สามารถหยุดระบายข้าวได้ เพราะต้องนำเงินมาจ่ายให้กับชาวนา และเมื่อหยุดระบายข้าวไม่ได้ ราคาข้าวแต่เดิมที่ชาวนาขายได้ ในราคาหมื่นบาทต่อตัน คงจะต้องเหลือเพียง 5-7 พันบาทต่อตันอย่างปฏิเสธไม่ได้” นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าว
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
|