ุ
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่ากระทรวงพาณิชย์จะเปิดประมูลข้าวลอตใหญ่รวมกันถึง 807,177.02 ตัน ประกอบด้วย 1) การประมูลทั่วไประดับจังหวัด โดยเป็นข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2ข้าวหอมจังหวัด ข้าวปทุมธานี ข้าวขาว 5% ข้าวเหนียว 10% ปลายข้าวเอวันเลิศรวม 169,327.99 ตัน จากโครงการจำนำปี 2555/2556 และปี 2556/2557 เพื่อใช้ภายในและส่งออก โดยเปิดให้ยื่นซองวันที่ 9 เม.ย.นี้ เวลา 09.00-12.00 น. ที่โรงแรมศรีอู่ทองแกรนด์ จ.สุพรรณบุรี
2) การประมูลข้าวหอมมะลิ 100% ข้าวหอมจังหวัด ข้าวปทุมธานี ข้าวขาว 5% ข้าวขาว 10% ข้าวท่อนหอมมะลิ ปลายข้าวจาก โครงการจำนำปี 2554/2555 นาปรัง 2555 นาปี 2555/2556 และปี 2556/2557 อีก 424,239.95 ตัน เพื่อใช้ภายในหรือส่งออก เปิดให้ยื่นซองวันที่ 10 เมษายน 2557 เวลา 09.00-16.30 น. ที่กรมการค้าต่างประเทศชั้น 9
3) การประมูลข้าวสารขาว 5% จากปี 2549/2550 นาปรังปี 2555 และนาปี 2555/2556 ซึ่งบางส่วนเป็นข้าวเก่าและเปียกน้ำ ปริมาณ 13,609.08 ตัน เพื่อใช้ภายในหรือส่งออก เปิดให้ยื่นซองวันที่10 เมษายน 2557 เวลา 09.00-16.30 น. ที่กรมการค้าต่างประเทศชั้น 9 เพื่อใช้ภายในหรือส่งออก เปิดให้ยื่นซองวันที่ 10 เม.ย. 2557 เวลา 09.00-16.30 น. ที่กรมการค้าต่างประเทศชั้น 9
4) การระบายผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) เป็นข้าวหอมมะลิ 100% และข้าวขาว 5% อีก 200,000 ตัน เปิดให้ยื่นซองวันที่ 9 เมษายน 2557
ส่วนการคืนเงินที่ได้จากการ ขายข้าวให้กับกระทรวงการคลังนั้น ล่าสุดมีการส่งคืนไปแล้วเกือบ 6,000 ล้านบาท ซึ่งรวมกับช่วง 2 สัปดาห์ก่อนที่ได้ส่งเงินคืนกระทรวงการคลังอีก 4,000 ล้านบาท
รวมเดือนมีนาคมได้ส่งเงินแล้วเกือบ 10,000 ล้านบาท เพื่อนำไปสมทบการจ่ายคืนงบฯกลาง 20,000 ล้านบาท สำรองที่ยืมมาจ่ายค่าจำนำข้าวให้กับชาวนาก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าเดือนเมษายนจะทยอยคืนเงินได้เพิ่มและจะคืนจนครบตามจำนวนได้ทันวัน ที่ 31 พฤษภาคมนี้
ส่วนสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกในตลาดขณะนี้ ทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานเข้ามาว่า ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังปี 2557 จะมีประมาณ 10.2 ล้านตัน ซึ่งกำลังทยอยออกสู่ตลาด ส่งผลให้เกิดปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ อาทิ ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 7,200-7,700 บาท หรือลดลง 9.15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่รัฐบาลรักษาการไม่สามารถดำเนินโครงการรับจำนำเพื่อยกระดับราคาได้
นาย สมชาติ สร้อยทอง อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรมจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ให้พิจารณามาตรการแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกนาปรังปี 2557 ตกต่ำ โดยมุ่งเน้นช่วยกระตุ้นด้านการตลาดเป็นหลัก เช่น การจัดคณะไปโรดโชว์ แต่ไม่ใช้วิธีการ "ชดเชย" ด้านการเงินอย่างที่ผ่านมา โดยกรมการค้าภายในได้ศึกษาเปรียบเทียบการใช้มาตรการดูแลราคาสินค้าเกษตรใน ประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย จีน ไต้หวัน และเวียดนาม พบว่า ส่วนใหญ่จะใช้วิธีสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย-ยา-เครื่องจักร โดยการอุดหนุนการนำเข้าหรือให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำแทน เพื่อให้ กขช.พิจารณาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด
"ภาคเอกชนและผู้ว่าราชการ จังหวัดได้เสนอให้รัฐบาลชะลอการระบายข้าวในสต๊อกแบบยื่นซื้อโดยตรง เพราะกลัวว่าจะมีซัพพลายข้าวออกมาในตลาดภายในประเทศมากขึ้น จนพ่อค้าไม่รับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา และขอให้รัฐบาลปรับวิธีการไปกระตุ้นให้เกิดการซื้อข้าวในตลาดมากขึ้น ด้วยการให้ชดเชยดอกเบี้ยกับผู้ประกอบการ วิธีการนี้จะเสนอให้ กขช.พิจารณารวมกับแนวทางอื่น อาทิ การเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบปริมาณข้าวตามกฎหมาย พ.ร.บ.การค้าข้าว พ.ศ. 2489 เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตสำรองสต๊อกปริมาณ 500 ตันตามที่กำหนด" นายสมชาติกล่าว
ขณะที่นางมนัสนิตย์ จิรวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญ (ผชช.) กรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมอยู่ระหว่างพิจารณาเข้าร่วมประมูลข้าวตลาดอิรัก หลังจากที่ได้เดินทางไปเจรจาให้อิรักยกเลิกการห้ามนำเข้าข้าวไทย ซึ่ง อิรักแจ้งว่า อยู่ระหว่างเตรียมการเปิดประมูลข้าวขาว 100% ปริมาณ 100,000 ตัน ซึ่งอาจมีทั้งแบบเปิดให้เอกชนและแบบรัฐบาลเข้าร่วมประมูล นอกจากนี้ ทางกรมการค้าต่างประเทศ จัดคณะเดินทางประชาสัมพันธ์ข้าวในเดือนนี้ ทั้งฮ่องกง แอฟริกา ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ส่วนแผนการประมูลข้าวระดับจังหวัด ครั้งแรกในวันที่ 9 เมษายนนี้ปริมาณ 170,000 ตัน ที่ จ.สุพรรณบุรี และกรมทยอยส่งมอบข้าวให้กับรัฐวิสาหกิจจีนลอตแรก 100,000 ตันในปลายเดือนนี้ จึงน่าจะทำให้ไทยส่งออกข้าวได้ตามเป้า 8 ล้านตัน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
|