ุ
รัฐบาลไฟเขียวมาตรการพยุงราคาข้าวในฤดูผลิตใหม่ สั่งธ.ก.ส.ปล่อยกู้ชาวนาเพื่อเก็บข้าวในยุ้งฉาง ให้พาณิชย์ปล่อยกู้โรงสีซื้อข้าวเก็บ รวม 22 ล้านตัน จากประเมินผลผลิต 27 ล้านตัน "ปรีดิยาธร"คาดราคาข้าวขยับขึ้น แต่ขึ้นกับการส่งออก ขณะธ.ก.ส.เตรียมจ่ายเงินชาวนา มั่นใจเริ่มได้ 20 ต.ค.นี้
รัฐบาลออกมาตรการพยุงราคาข้าว โดยให้ชาวนาชะลอขายข้าวและให้โรงสีซื้อข่าวเก็บในโกดัง ขณะที่อุดหนุนสินเชื่อผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกระทรวงพาณิชย์ โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว (นบข.) ว่ารัฐบาลพยายามที่จะแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำโดยใช้วิธีการคู่ขนานทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว
มาตรการระยะสั้นรัฐบาลได้ให้การช่วยเหลือให้กับชาวนาผู้รายได้น้อย การลดต้นทุน รวมทั้งช่วยเหลือชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวก็ได้ดำเนินการแก้ปัญหา
ส่วนในระยะยาวก็ต้องดูในเรื่องของการวางแผนการผลิตโดยใช้ศักยภาพทั้งหมดของรัฐและให้ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย และศูนย์ในพื้นที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการให้คำแนะนำเกษตรกรในการปลูกพืชชนิดต่างๆ ให้เกิดการสมัครใจแต่ไม่ใช่การบังคับ
“ปัญหาในขณะนี้คือการที่เราขายข้าวได้จำนวนมากแต่ราคาข้าวไม่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งมีปัญหาในเรื่องของการส่งมอบข้าว เช่นเราขายข้าวให้กับแอฟริกาแล้วส่งข้าวไปไม่ได้เนื่องจากเกิดโรคระบาด หรือบางพื้นที่ก็มีภาวะสงครามการขนส่งข้าวก็มีปัญหา ปัญหาตอนนี้คือทำยังไงให้ราคาข้าวเพิ่มขึ้น อาจจะต้องให้คนทั้งโลกกินข้าวเพิ่มขึ้น ผมก็ให้โจทย์ไปว่าทำยังไงในการแก้ปัญหาจะเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ให้ชาวต่างชาติเข้ามาดูการทำนา เราก็ต้องสร้างชาวนารุ่นใหม่ให้กระทรวงเกษตรฯไปดูว่าจะทำอย่างไรในการส่งลูกชาวนาเรียนถึงดอกเตอร์แล้วกลับมาทำนาให้ความรู้อยู่ในชุมชน”พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุมนบข.มีมติเห็นชอบมาตรการรักษาระดับราคาข้าวนาปีปีการผลิต 2557/2558 ที่คาดว่าข้าวจะเริ่มออกสู่ตลาดในเดือน พ.ย.นี้และคาดว่าจะมีข้าวออกสู่ตลาดทั้งหมดประมาณ 27 ล้านตัน
"เพื่อไม่ให้ราคาข้าวในตลาดลดต่ำลง นบข.จึงเห็นชอบมาตรการสินเชื่อเพื่อพยุงราคาข้าว 22 ล้านตัน ส่วนอีก 5 ล้านตันเป็นข้าวขาวคุณภาพสูง ขายได้ราคาอยู่แล้ว รัฐบาลไม่ต้องไปจัดการอะไร"
สำหรับข้าวจำนวน 22 ล้านตัน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ข้าวหอมมะลิ 8 ล้านตัน และข้าวเหนียว 7 ล้านตัน รวม 15 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ โดยจะให้ ธ.ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อให้กับชาวนา 80% ของมูลค่าข้าวเพื่อให้ชาวนาชะลอการขายและเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางของตนเองและทยอยขายภายหลังซึ่งจะทำให้ข้าวที่ออกมาใหม่ราคาไม่ตกมากนัก โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้กับชาวนาต่อไป
2. ข้าวขาวคุณภาพต่ำประมาณ 7 ล้านตัน โดยรัฐบาลจะใช้วงเงินที่มีอยู่ของกระทรวงพาณิชย์ในการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับโรงสี เพื่อไปซื้อข้าวจากชาวนามาเก็บไว้เพื่อชะลอการขายข้าวในช่วงที่ราคาข้าวในตลาดยังต่ำ
“ทั้งสองวิธีนี้เป็นการดูแลเสถียรภาพราคาข้าวในช่วงข้าวนาปีออกสู่ตลาดมากโดยการดึงซัพพลายที่ทะลักออกจากตลาด ขณะนี้ราคาข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ 7,800 - 8,500 บาท/ตัน คาดว่าหลังจากนี้ราคาข้าวจะทยอยปรับตัวขึ้น แต่จะเพิ่มขึ้นแค่ไหนอยู่ที่ฝีมือของผู้ส่งออกด้วย แต่ก็เชื่อว่าการส่งออกจะดีขึ้นเพราะผู้ส่งออกที่ไม่ได้ทำงานมา 2 ปีในช่วงมีโครงการรับจำนำกลับมาทำหน้าที่ในช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย.ก็ส่งข้าวออกได้ 9 แสนตันต่อเดือน รวมแล้วในปีนี้ส่งออกได้แล้วกว่า 8 ล้านตัน ตัวเลขส่งออก 10 ล้านตันในปีนี้ก็จะทำได้และในปีหน้าการส่งออกจะเพิ่มเป็น 11 ล้านตัน” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า งบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้ ขึ้นกับจำนวนเกษตรกรที่มาขอสินเชื่อ
คาดขึ้นทะเบียนแจกเงินไร่ละพัน20ต.ค.
สำหรับการให้เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า การให้เงินช่วยเหลือชาวนาจำนวนนี้จะถึงมือชาวนาอย่างแท้จริงเนื่องจากจะโอนเงินเข้าสู่บัญชีของชาวนา โดยเชื่อว่าการขึ้นทะเบียนจะมีความถูกต้อง 99% โดยเจ้าของที่ดินจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ ซึ่งการขึ้นทะเบียนชาวนา ธ.ก.ส.ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อน และตรวจสอบข้อมูลทุกปี ซึ่งจะมีการดำเนินการขึ้นทะเบียนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 ต.ค.
"จะทราบตัวเลขเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่มาขึ้นทะเบียนรอบใหม่นี้ทั้งหมดว่ามีกี่ครัวเรือนโดยปีที่ผ่านมามีจำนวน 3.4 ล้านครัวเรือน ปีนี้อาจจะเพิ่มเป็น 3.5 ล้านครัวเรือนก็ได้"
ตั้ง"อนุพงษ์"โซนนิ่งเกษตร
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวด้วยว่าที่ประชุม นบข.มีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการโซนนิ่งเกษตร โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานเพื่อทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการสำรวจ พื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ รวมทั้งทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ว่าจะแก้ปัญหาการปลูกข้าวนาปรัง และการปลูกข้าวในปีการผลิต 2558
อย่างไร รวมทั้งการส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวคุณภาพสูงเพื่อให้ได้ผลผลิตและราคาดีขึ้น โดยมาตรการต่างๆ ขอให้คณะกรรมการนำมาเสนอต่อที่ประชุม นบข.ในการประชุมครั้งต่อไป ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แจงแนวทางจ่ายเงินชาวนา
ตั้งงบชดเชยโรงสี612ล้านบาท
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า นบข. มีมติให้เพิ่มวงเงินชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสีที่เข้าร่วมโครงการเก็บสต็อกข้าวจากเดิมที่เคยอนุมัติไว้ ปริมาณข้าวเปลือก 2 ล้านตัน โดยชดเชยดอกเบี้ย 3%วงเงินชดเชย 306 ล้านบาท ให้เพิ่มอีก 4 ล้านตัน วงเงินชดเชย 612 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3% เช่นเดิม รวมรัฐจะต้องจ่ายชดเชยรวมเป็นเงิน 918 ล้านบาท ปริมาณข้าวที่โรงสีจะต้องซื้อเก็บสต็อกรวม 6 ล้านตัน
“ถ้าโครงการนี้เวิร์ก จะช่วยดึงผลผลิตข้าวเปลือกออกจากตลาดได้ 6 ล้านตัน และจะช่วยดึงราคาข้าวให้ปรับตัวสูงขึ้น เพราะโรงสีจะต้องไปซื้อข้าวในราคานำตลาด”
นอกจากนี้ นบข. ยังได้อนุมัติความช่วยเหลือให้กับชาวนาที่มีปัญหายังไม่ได้รับเงินจำนำจากโครงการข้าวของรัฐบาลก่อน โดยได้อนุมัติการช่วยเหลือให้กับชาวนาใน 3 จังหวัด คือ กำแพงเพชร พิจิตร และสงขลา ที่ยังไม่ได้รับเงิน เพราะมีปัญหาในเรื่องการจำนำข้ามเขต และจำนำเกินระยะเวลาที่กำหนด รวมวงเงิน 72 ล้านบาท ชาวนา 571 ราย ซึ่งนบข. ได้ย้ำว่า การอนุมัติช่วยเหลือครั้งนี้ เป็นความต้องการช่วยเหลือชาวนา
ขณะเดียวกัน นบข. ได้อนุมัติแต่งตั้งคณะทำงานระบายข้าวเปลือก ข้าวสารที่เสื่อมคุณภาพ โดยเป็นข้าวตกค้างตั้งแต่ปี 2548/49 ปี 2552/53 และปี 2554/55 รวมปริมาณ 5.4 หมื่นตัน ซึ่งหากไม่หาทางระบายออก ก็จะเสียค่าเช่าโกดังต่อไปไม่จบสิ้น
ธ.ก.ส.เตรียมจ่ายเงินชาวนา20ต.ค.
ด้าน ธ.ก.ส.ได้ซักซ้อมแนวทางการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา สำหรับปีการผลิต 2557/58 ไร่ละ 1 พันบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปยังสาขาต่างๆ แล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกษตรที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ 3.49 ล้านครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปีประมาณ 63.8 ล้านไร่ รวมเป็นเงินทั้งหมด 4 หมื่นล้านบาท
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่าได้ชี้แจงให้เกษตรกรทราบถึงขั้นตอนการดำเนินงาน และได้เตรียมพนักงาน ธ.ก.ส.บางส่วน สุ่มตรวจสอบการเพาะปลูกข้าวของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้กระบวนการทำงานดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และเงินดังกล่าวถึงมือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างแท้จริงและทั่วถึง โดยกำหนดจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับเกษตรกรที่เข้าสู่กระบวนการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.เป็นต้นไป
ธ.ก.ส.คาดวงเงินรวมกว่าแสนล้าน
ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการธ.ก.ส. ที่มี นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. รายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงผลการดำเนินงานตามมติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งนับตั้งแต่คสช.เข้ามาบริหารประเทศกว่า 4 เดือนที่ผ่านมา มีคำสั่งให้ธ.ก.ส.ช่วยเหลือเกษตรแล้ว 8 โครงการ
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ครม. มีมติให้ช่วยเหลือชาวนาอีก 1 โครงการ คือโครงการจ่ายเงินช่วยชาวนาไร่ละ 1 พันบาท เตรียมจะเสนอให้บอร์ดธ.ก.ส.พิจารณาในวันที่ 15 ต.ค.นี้ ซึ่งหากรวมวงเงินที่ให้ความช่วยเหลือทั้ง 9 โครงการคิดเป็นเงินกว่า 2 แสนล้านบาท โดยเป็นเงินของธ.ก.ส. 1.2 แสนล้านบาท และเป็นเงินกู้ที่กระทรวงการคลังจัดหามาให้ 8.6 แสนล้านบาท
เงินส่วนที่ ธ.ก.ส.ต้องออกไปก่อน หากเป็นโครงการปล่อยสินเชื่อจะได้คืนจากการใช้หนี้ของลูกหนี้ และรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ส่วนหนึ่ง สำหรับเงินที่ให้ชาวนาไร่ละ 1 พันบาท จะได้คืนด้วยการตั้งงบจากรัฐบาลมาชดเชยเงินต้น พร้อมดอกเบี้ยที่คิดจากอัตราเฉลี่ยฝากประจำของ 4 ธนาคารใหญ่บวก 1% (เอฟดีอาร์บวก 1%) ส่วนเงินกู้กระทรวงการคลังตั้งงบมาใช้ให้ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น โดยไม่ให้กระทบกับฐานะการเงินของธนาคาร
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
|