ุ
นางสาวประพีร์ อังกินันทน์ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลตั้งแต่ปีการผลิต 2554/55 เป็นต้นมา ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติกรอบวงเงินทุนหมุนเวียนโครงการ ปีการผลิต 2554/55 และ 2555/56 ณ วันที่ 31 ธ.ค.2556 ไม่เกิน 500,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินทุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไม่เกิน 90,000 ล้านบาท และเงินกู้ที่กระทรวงการคลังจัดหาให้ไม่เกิน 410,000 ล้านบาทนั้น
พบว่าเพียงวันที่ 30 ก.ย.2556 มีการเบิกจ่ายเงินทุนหมุนเวียนแล้วจำนวน 677,128.46 ล้านบาท ในขณะที่รับคืนจากการระบายข้าวได้เพียง 128,373.01 ล้านบาท รัฐบาลจึงมีภาระหนี้สินค้างชำระ ธ.ก.ส.เป็นเงินทั้งสิ้น 548,755.45 ล้านบาท
นางสาวประพีร์ กล่าวต่อว่า การดำเนินโครงการมีจุดอ่อนหรือความเสี่ยงที่นำไปสู่การทุจริตในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรจนถึงการระบายข้าว เช่น การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไม่ถูกต้อง เกินความเป็นจริง ซึ่งเป็นช่องทางนำไปสู่การสวมสิทธิเกษตรกรและการทุจริต ผู้แทนเกษตรกรและตัวแทนข้าราชการ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ประจำจุดรับจำนำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรขาดความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการตรวจสอบคุณภาพข้าว (กรัมข้าว) ชนิดข้าว และน้ำหนักข้าว ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรมได้
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีข้าวเปลือกและข้าวสารสูญหายหรือขาดบัญชีในขั้นตอนการจัดเก็บรักษาข้าว ตลอดจนปัญหาการระบายข้าวได้น้อยและล่าช้ามากจนส่งผลให้ข้าวเสื่อมคุณภาพ ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปประเด็นและความเสี่ยงสำคัญที่ตรวจพบและแจ้งให้นายกรัฐมนตรีใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาปรับปรุงการดำเนินโครงการในช่วงที่ผ่านมาแล้วถึง 3 ครั้ง (หนังสือ สตง. ด่วนที่สุด ที่ ตผ. 0012/4216 ลงวันที่ 24 ส.ค.2554 หนังสือ สตง.ด่วนที่สุด ที่ ตผ. 0012/0068 ลงวันที่ 9 ม.ค.2555 และหนังสือ สตง. ด่วนที่สุด ที่ ตผ. 0012/5247 ลงวันที่ 10 ก.ย.2555)
ข้าวคงค้าง13ล้านตัน-จี้รัฐรับผลขาดทุน
นางสาวประพีร์ กล่าวอีกว่า จากรายงานผลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตรของรัฐบาล โดยพิจารณาผลการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 และโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 (ครั้งที่1) พบว่า สิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค.2556 มีผลขาดทุนจำนวน 332,372.32 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสูงกว่ายอดการปิดบัญชี สิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค.2556 (ผลการขาดทุนจำนวน 220,968.78) จำนวนมากถึง 111,403.54 ล้านบาท ซึ่งชี้ให้เห็นถึงผลขาดทุนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
"หากดำเนินการระบายข้าวคงเหลือในคลังสินค้ากลางได้ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีและล่าช้า จะส่งผลให้ข้าวเสื่อมคุณภาพและมีมูลค่าลดลง รวมทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาข้าวเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเก็บรักษา เช่น ค่าเช่าคลังสินค้ากลาง ค่าใช้จ่ายรมยารักษาคุณภาพข้าว"
ทั้งนี้ จากรายงานผลการตรวจสอบของ สตง. พบว่า รายงานผลการปิดบัญชีโครงการ ตั้งแต่ปีการผลิต 2554/55 จนถึงปีการผลิต 2555/56 (ครั้งที่1) ณ วันที่ 31 พ.ค.2556 มีปริมาณข้าวสารคงเหลือในคลังสินค้ากลาง รวมจำนวน 13,001,470.58 ตัน ซึ่งจะส่งผลให้โครงการมีผลขาดทุนเป็นจำนวนมาก และรัฐบาลต้องรับผิดชอบผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากโครงการทั้งหมด รวมทั้งภาระเงินต้นและดอกเบี้ยจากเงินกู้
ชี้ 2 ปมปัญหาด้านบริหารจัดการ
รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวต่ออีกว่า ปัญหาสำคัญด้านการบริหารจัดการข้าว มี 2 ประเด็น ได้แก่ 1.ปัญหาด้านการผลิต เช่น ปัจจัยการผลิตไม่เพียงพอและราคาแพง การขาดแคลนน้ำหรือน้ำท่วม การระบาดของโรคและแมลง ซึ่งทำให้คุณภาพและปริมาณผลผลิตต่อไร่ต่ำ และขายข้าวได้ในราคาถูก
2.ปัญหาด้านการตลาด เช่น การถูกกดราคารับซื้อ การปลอมปนข้าว ทำให้เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการปรับปรุงคุณภาพให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด แต่การดำเนินโครงการดังกล่าวนอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งสองประการได้ และไม่ทำให้เกิดการพัฒนาการผลิตข้าวอย่างยั่งยืนแล้ว ยังทำให้เกษตรกรไม่ให้ความสนใจกับการปรับปรุงคุณภาพข้าวอีกด้วย
ไม่โปร่งใส-ทุจริตสูง-กระทบระบบคลัง
"การดำเนินโครงการมีความไม่โปร่งใสและน่าเชื่อว่ามีการทุจริตสูง ทั้งยังมีผลการดำเนินงานขาดทุนหลายแสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลต้องรับผิดชอบตั้งงบประมาณชดเชยผลการขาดทุนและภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกิดขึ้นจากโครงการทั้งหมด ทำให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินและเกษตรกร ความเสี่ยงต่อระบบการคลังของประเทศ และขาดความยั่งยืนในการพัฒนาการผลิตข้าว อีกทั้งโครงการนี้ยังถือเป็นนโยบายแทรกแซงตลาดและสร้างภาระต่อเนื่องให้รัฐบาลต้องจัดเก็บรักษาข้าวไว้ในคลังสินค้ากลางและกลายเป็นผู้ขายข้าวแข่งกับเอกชน ซึ่งนำไปสู่ช่องทางการทุจริตในขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น" นางสาวประพีร์ ระบุ
เสนอยุติโครงการฤดูกาลถัดไป
รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวด้วยว่า จากข้อตรวจพบข้างต้น สตง.จึงได้มีข้อเสนอแนะถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ให้พิจารณาทบทวนและยุติการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในฤดูกาลต่อไป โดยอาจพิจารณาใช้มาตรการหรือแนวทางการให้ความช่วยเหลือในลักษณะอื่นแทน เช่น การสนับสนุนปัจจัยการผลิตและให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรยากจนหรือมีรายได้น้อยเป็นลำดับแรก รวมทั้งมีการจัดทำฐานข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง และมีกระบวนการติดตามประเมินผลโครงการอย่างต่อเนื่อง
ส่วนกรณีจ่ายเงินจำนำตามโครงการให้แก่เกษตรกรล่าช้า ให้พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำหนดมาตรการเยียวยาเพื่อบรรเทาผลกระทบและความเสียหายให้แก่เกษตรกรดังกล่าวด้วย
เตือนคลังปาเงินโปะต้องยึด รธน.
พร้อมกันนี้ สตง.ยังได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยเน้นย้ำเรื่องการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการจำนำข้าวเปลือก (นาปี) ปีการผลิต 2556/57 ว่าต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ตลอดจนขั้นตอนการดำเนินงานที่กำหนดไว้อย่างถูกต้องโดยเคร่งครัดและรอบคอบ เพราะหากการดำเนินการดังกล่าวเข้าสู่การวินิจฉัยชี้ขาดโดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแล้วปรากฏว่าการดำเนินการไม่ถูกต้อง ผู้อนุมัติและผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
|