www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

'ประยุทธ์'นั่งนบข.ดูแลข้าว


การแก้ปัญหาข้าวทั้งในด้านราคาและการจัดการผลผลิตฤดูกาลใหม่ ภายหลังการจำนำข้าวตามนโยบายรัฐบาลชุดที่ผ่านมาสิ้นสุดลง ยังเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีข้อเสนอหลากหลายแนวทาง แต่ต้องใช้เงินในการอุดหนุนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม

อย่างไรก็ตาม ทางเลือกทั้งหมด ต้องเข้าสู่การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกและหัวหน้าคสช. ภายหลังตัดสินใจลงมานั่งคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าวด้วยตัวเอง

แหล่งข่าวจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า คสช. จะมีการตั้งคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว (นบข.) ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการที่ดูแล ควบคุมและกำหนดนโยบายเกี่ยวกับข้าว แทนคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ในรัฐบาลชุดก่อน โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการ นบข. จะมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นประธาน และมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช.ฝ่ายเศรษฐกิจเป็นรองประธาน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. เป็นกรรมการ รวมทั้งมีหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงและหัวหน้าส่วนราชการ เป็นกรรมการอีกหลายคน เช่น ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นกรรมการและเลขานุการ

สั่งระบายสต็อก-กำหนดราคา

สำหรับอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าว ในเบื้องต้นกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับข้าว รวมทั้งการระบายสินค้าข้าว กำหนดราคา ให้เป็นไปตามกลไกตลาด และเพื่อประโยชน์ของประชาชนในประเทศ

นอกจากนี้ยังมีอำนาจในการตั้งคณะอนุกรรมการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องขึ้นมาช่วยให้การปฏิบัติงานของคณะกรรมการฯ มีประสิทธิภาพ โดยในเบื้องต้นได้กำหนดให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการ ขึ้นมาตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลที่ผ่านมา เพื่อรวบรวมรายละเอียดและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ เช่น ปริมาณการรับจำนำข้าว วงเงินที่ใช้ในการรับจำนำข้าว ปริมาณการระบายข้าวที่แท้จริง เป็นต้น

ตั้งอนุกรรมการตรวจสต็อกทั่วประเทศ

นอกจากนั้นจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดำเนินการตรวจสอบตรวจสต็อกข้าว โดยการเข้าไปตรวจสอบสต็อกข้าวทั่วประเทศ จะใช้กำลังพลในแต่ละกองทัพภาคสนับสนุน ซึ่งการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวของคณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นจะเป็นคนละส่วน กับการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ดำเนินการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวในประเด็นต่างๆ แล้ว

ต้นทุนผลิตข้าวพุ่ง10,831บาทต่อเกวียน

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า ในการหารือแนวทางแก้ไขราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ที่ประชุมที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. เป็นประธานได้ระดมความเห็นจากทุกภาคส่วน โดยได้ศึกษาต้นทุนการผลิตข้าวนาปี 2557 เฉลี่ยทั้งประเทศ แล้วพบว่า ต้นทุนรวมต่อเกวียนสูงถึงตันละ 10,831 บาท เมื่อแยกเป็นต้นทุนรวมต่อไร่ จะอยู่ที่ไร่ละ 4,787.10 บาท โดยผลผลิตต่อไร่จะอยู่ที่ 402 กิโลกรัม ในจำนวนนี้ต้นทุนคงที่เฉลี่ยไร่ละ 797.30 บาท ต้นทุนผันแปรไร่ละ 3,989.75 บาท โดยต้นทุนต่อไร่ที่มีอัตราสูงสุดอยู่ที่ภาคกลาง คือ ไร่ละ 5,750 บาท รองลงมาคือภาคเหนือ ไร่ละ 4,966.37 บาท

นอกจากปัญหาต้นทุนการผลิตสูงแล้ว ยังมีประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่ชาวชาวนาทั่วประเทศประมาณ 3.7 ล้านครัวเรือน ต้องเผชิญคือ ชาวนาถึง 80% ต้องเช่าที่นา และส่วนใหญ่มีที่นาไม่เกิน 20 ไร่ ส่วนปัญหาอื่นๆ แบ่งเป็นปัจจัยภายนอก ผลผลิตออกสู่ตลาดมากช่วงฤดูกาลผลิต การถูกกดราคา กฎหมายและโครงสร้างตลาดไม่เอื้อต่อชาวนารายย่อย ราคาจะต้องขึ้นกับกลไกตลาด และสภาพดินฟ้าอากาศ

ส่วนปัจจัยภายใน ได้แก่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ต้นทุนการผลิตสูง จากการซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และค่าเช่าที่นา เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ขาดความรู้ ขาดทักษะการเกษตรสมัยใหม่ไม่รู้เท่าทันกลไกตลาด

พาณิชย์จี้ผู้ค้าข้าวสต็อกเพิ่ม

ข้อเสนอเพื่อการดูแลราคาข้าวของกระทรวงพาณิชย์ แบ่งเป็นข้อเสนอจากกรมการค้าภายใน แบ่งเป็นระยะสั้น ได้แก่ ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้สินเชื่อแก่เกษตรกร โดยใช้ข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวเป็นหลักประกัน ให้ผู้ประกอบการค้าข้าวเก็บสต็อกเพิ่มขึ้นและนำข้าวในสต็อกเป็นหลักประกันเป้าหมาย 5 ล้านตัน โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยในอัตรา 3% ของราคาข้าวเปลือก ให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 เช่นเดียวกับโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2556 กำกับดูแลการจำหน่ายปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืช ส่วนมาตรการระยะยาว สนับสนุนการผลิตข้าวคุณภาพดี ตั้งกองทุนชาวนาจากภาษีหัก ณ จ่ายของผู้ส่งออก 0.75% เพื่อนำมาพัฒนาชาวนา

ส่วนข้อเสนอ ของกรมการค้าต่างประเทศ ระยะสั้น ชะลอการระบายข้าวในสต็อกในช่วงผลผลิตออกมาก เพิ่มปริมาณการส่งออกในรูปข้าวนึ่งให้มากขึ้น ระยะกลาง เร่งรัดการส่งออกข้าวคุณภาพดีเพิ่มขึ้น ขยายตลาดเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดทำแผนด้านการตลาดโดยรวม ได้แก่ การกระจายความเสี่ยง โดยใช้กลไกตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) แปรรูปสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ข้าวที่มีคุณภาพ ยกระดับราคา

ผู้ส่งออกขอรัฐหนุนดึงข้าวออกระบบ

ข้อเสนอผู้ส่งออกข้าว แบ่งเป็นระยะสั้น ดึงซัพพลาย ส่วนเกินออกจากตลาดในช่วงต้นฤดู โดยเร่งรัดการส่งออก ผ่านการใช้ประวัติผู้ส่งออกและปริมาณส่งออกเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาและให้การอุดหนุนช่วยเหลือในแบบขั้นบันได

ส่วนการจัดการสต็อกข้าวรัฐ คือให้เร่งระบายข้าวจากปี 2556/57 เพื่อลดการเสื่อมคุณภาพ, ควบคุมการรับ-จ่ายข้าวในสต็อกให้รัดกุม,การขายข้าวจีทูจีกับจีนให้ผู้ส่งออกเข้าประมูลด้วย ช่วยกระตุ้นให้มีการซื้อข้าวจากเกษตรกร

ข้อเสนอโรงสีข้าว คือ กำหนดราคาข้าวเปลือกขั้นต่ำ หากราคาซื้อขายตลาดปกติมีราคาต่ำกว่าราคาขั้นต่ำ (ต้นทุนชาวนา+กำไร) ให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซง สนับสนุนปัจจัยการผลิต โดยรัฐบาลช่วยเหลือเป็นเงินสดและให้ชาวนานำใบเสร็จรับเงินมาแสดงส่วนลดกับ ธ.ก.ส.

ชาวนาขอช่วยปัจจัยผลิต3พัน/ตัน

ข้อเสนอชาวนา ประกอบด้วย สมาคมส่งเสริมชาวนาไทย สมาคมชาวนาข้าวไทย สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ คือ ขอให้ชาวนาขายข้าวได้ในราคา ที่เกษตรกรอยู่ได้ ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 16,000 บาท, ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,000-10,000 บาท หรือ ตันละ 12,000 บาท เพราะต้นทุนการผลิตสูง ไร่ละ 5,000-7,000 บาท ช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิต เช่น ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ตันละ 15,000-30,000 บาท ตามต้นทุนจริง เฉพาะชาวนาที่มีพื้นที่ไม่เกิน 20-30 ไร่

นอกจากนี้ ยังขอให้รัฐบาลแทรกแซงในราคาที่เหมาะสม หรือชดเชยส่วนต่างระหว่างราคากับตลาดกับราคาเป้าหมายที่กำหนด และขอให้คงการจำนำที่ยุ้งฉางเพื่อชะลอการจำหน่ายและเป็นประเพณี เสริมสภาพคล่องเงินทุนปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำให้สหกรณ์ เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย

นักวิชาการแนะจัดโซนนิ่ง

ข้อเสนอนักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แก่ ระยะสั้น ให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นชุมชนเข้มแข็ง ผลิตข้าวเฉพาะท้องถิ่น ระยะกลาง ลดต้นทุน ปรับปรุงพันธุ์ข้าวคุณภาพดี และให้ผลผลิตต่อไร่สูง ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ระยะยาว จัดทำระบบชลประทานและจัดโซนนิ่ง กรณีห้ามเกษตรกรเพาะปลูกให้รัฐบาลชดเชย เมื่อปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน ปฏิรูปที่ดิน เก็บภาษีที่ดิน ปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

TREA on Facebook


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2014 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.