ุ
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่านายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ผู้ปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกประกาศปรับปรุงมาตรฐานข้าวหอมมะลิ แบ่งเป็น 2 เกรด คือ 1) ข้าวหอมมะลิไทยชนิดพิเศษ (PRIME QUALITY THAI HOM MALI RICE) ซึ่งต้องมีข้าวหอมมะลิเป็นส่วนผสมไม่น้อยกว่า 98% และ 2) ข้าวหอมมะลิไทย (THAI HOM MALI RICE) ต้องมีข้าวหอมมะลิเป็นส่วนผสมไม่น้อยกว่า 92% จากมาตรฐานเดิมที่เคยใช้ตั้งแต่ 29 กันยายน 2549 ซึ่งมีอยู่เพียงมาตรฐานเดียว คือข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งส่วนผสมข้าวหอมมะลิ 92% เพื่อส่งเสริมการส่งออกข้าวคุณภาพสูง เพิ่มมูลค่าการส่งออก โดยกำหนดให้มีผลบังคับใช้ภายใน 60 วัน นับจากออกประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทางสมาคมทำหนังสือขอระงับหรือขยายระยะเวลาประกาศดังกล่าว และแจ้งผลเสียของการเพิ่มมาตรฐาน จะทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนด้านการตรวจสอบทางพันธุกรรมเพิ่มขึ้น เพราะมาตรฐาน 92% และ 98% ต้องตรวจสอบทางพันธุกรรมเท่านั้น และยังทำให้ต้นทุนในการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้น ยุ่งยาก โดยเฉพาะข้าวที่บรรจุถุงขายในห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศ ต้องให้ผู้ซื้อเห็นชอบก่อน ทั้งนี้ ในวันที่ 16 ม.ค.นี้ กรมฯ เชิญผู้ประกอบการไปหารืออีกครั้ง
"สำนักงานมาตรฐาน กรมการค้าต่างประเทศ ได้เคยเชิญผู้ประกอบการข้าวหอมมะลิไปหารือเมื่อ 2-3 เดือนก่อน ซึ่งเราเสนอความเห็นไปว่า ขอปรับให้มีข้าวหอมมะลิอีกเกรด เพื่อทำตลาดรอง โดยให้เป็นข้าวหอมมะลิที่มีข้าวหอมมะลิเป็นส่วนผสม 70-80% เพื่อจะนำไปทำตลาดแข่งขันกับข้าวหอมมะลิเกรดต่ำของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะทำให้มีฐานตลาดข้าวหอมมะลิเกรดรอง ราคาสูงกว่าเพื่อนบ้าน ตันละ 50 เหรียญสหรัฐต่อตัน ก็ขายได้ แต่ทางเราไม่ได้สนับสนุนให้สร้างมาตรฐาน 98% เพราะปัจจุบันมีผู้ผลิตไม่ถึง 5% ของปริมาณข้าวเปลือกมะลิที่ผลิตได้ปีละ 6 ล้านตันข้าวเปลือก หรือไม่ก็มีเฉพาะกลุ่มออร์แกนิกส์ด้วยซ้ำ หากจะใช้เรา ขอให้เป็นแบบสมัครใจ แต่กรมกลับประกาศบังคับใช้ โดยไม่ได้ฟังคำทัดทานจากผู้ส่งออก"
นายเจริญกล่าวต่อไปว่า รัฐมองตรงข้ามกับเอกชน เพราะไม่เข้าใจกัน โดยรัฐบาลต้องการยกระดับมาตรฐาน ทำให้ข้าวไทยเป็นระดับพรีเมี่ยม ราคาแพง
แต่ข้าวที่ผลิตได้ความบริสุทธิ์ 98% มีปริมาณน้อย การออกมาตรฐานนี้เปรียบเสมือนเป็นการแขวนคอตัวเอง ถ้ารัฐบาลอยากให้เอกชนช่วยเพิ่มการส่งออก หรือช่วยระบายข้าว ต้องฟังความเห็นของเราบ้าง เพราะข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ไม่ใช่เพียงแค่มีความบริสุทธิ์สูงเท่านั้น แต่จะต้องมีองค์ประกอบอื่นด้วย เช่น ความนุ่มและความหอม โดยหากเทียบข้าวหอมมะลิ 98% ของ จ.นครสวรรค์ จ.พิษณุโลก กับข้าวหอมมะลิ 92% ของ จ.อุบลราชธานี พบว่าข้าวอุบลฯจะได้ราคาสูงกว่าของ จ.นครสวรรค์ หรือหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็ไม่มีการกำหนดความบริสุทธิ์ เราเคยตรวจสอบความบริสุทธิ์ของข้าวหอมมะลิกัมพูชา ก็มีสัดส่วนเพียแค่ 70-80% เท่านั้น
สอดคล้องกับความเห็นของผู้ประกอบการโรงสีข้าวหอมมะลิกล่าวว่า แนวคิดการออกมาตรฐานนี้เคยมีมาก่อนหน้านี้ แต่ผู้ส่งออกคัดค้านมาก จึงยกเลิกแนวคิดนี้ไป แต่อยู่ ๆ ก็มีการนำมาพิจารณาและประกาศใช้ในสมัยท่านนิวัฒน์ธำรง โดยไม่มีการขอความเห็นจากผู้ส่งออกเลย เพราะถึงมาขอความเห็น เราก็คัดค้านเหมือนเดิม
"เจ้าหน้าที่รัฐคิดว่า ถ้าบีบเพิ่มมาตรฐานสูงจะช่วยยกระดับราคาข้าวได้ แต่ในความเป็นจริง หากเปรียบเทียบปริมาณที่ผลิตได้ 98% มีเพียงไม่กี่ราย และคิดเป็นปริมาณไม่มาก ไม่ถึง 5% ของปริมาณส่งออก 2 ล้านตัน แต่ผู้ส่งออกที่ผลิตได้ตามมาตรฐานเดิม 92% ก็จะถูกบีบให้ลดราคา ถึงผู้ผลิตที่เก่งจะผลิตเกรดดีมากถึง 97% แต่ก็ต้องถูกกดราคาเป็นข้าวหอมมะลิเกรดรอง ขายได้ราคาเท่าเกรด 92% อยู่ดี เพราะเหมือนไทยโม้ว่า ที่ผ่านมาไทยมีข้าวหอมมะลิพรีเมี่ยม 92% แต่พอมาวันนี้ไม่ใช่แล้ว แปลว่าก่อนหน้านี้เราโกหกเหรอ ทำให้พระเอกกลายเป็นพระรอง ได้แพงกว่านิดหน่อยก็ไม่มีประโยชน์ ถามเจ้าหน้าที่แยกด้วยตาเปล่าออกไหม ระหว่าง 98% กับ 92% เชื่อว่าเขาก็แยกไม่ออก"
ส่วนกรณีนี้จะทำให้ข้าวไทยมีจุดแข็งด้านคุณภาพ เทียบกับคู่แข่งได้หรือไม่ แหล่งข่าวตอบว่า ปัจจุบันข้าวหอมมะลิของกัมพูชาที่ได้รับรางวัลร่วมกับข้าว California Calrose (ข้าว Japonica) จากสหรัฐ เพราะมีความหอมกว่า ส่วนมาตรฐานข้าวหอมมะลิของเขามีเพียง 80% เท่านั้น หากไทยจะแก้ปัญหา เพื่อสร้างจุดแข็ง จะต้องพัฒนาประสิทธิภาพการปลูก เพิ่มความหอม ความนุ่ม และความเหนียวมากกว่า
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
|