ุ
"นิวัฒน์ธำรง" ไฟเขียวขายข้าวรัฐอีก 7.3 แสนตัน คาดได้เงินมูลค่า 8.5-9 พันล้านบาท ประมูล "เอเฟท" ล่ม หลังจาก กปปส. ปิดกระทรวงตัดไฟเลื่อนไปเป็น 26 มี.ค.นี้ ปัดหน่วยงานรัฐโยนลูกเบิกงบกลาง 2 หมื่นล้านจ่ายชาวนา ยัน จันทร์ 17 มี.ค. ได้เงินแน่ "เบญจา"ชงกิตติรัตน์เซ็นเบิกจ่ายงบ 2 หมื่นล้าน
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การประมูลซื้อข้าวสารในสต็อกรัฐบาลเป็นการทั่วไปปริมาณ 517,000 ตัน เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา ขณะนี้กรมการค้าต่างประเทศ ได้เจรจาต่อรองกับผู้ที่เสนอราคาและเสนอผลการพิจารณาให้ตนได้อนุมัติขายแล้ว โดยได้อนุมัติขายทั้งสิ้น 180,000 ตัน
นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติขายให้กับผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ มาเสนอซื้อจากรัฐโดยตรงอีก 550,000 ตัน รวมทั้งสิ้น 730,000 ตัน มูลค่า 8,500-9,000 ล้านบาท
“สาเหตุที่กองแรกขายได้น้อย เพราะผู้เสนอราคาต่ำกว่าเกณฑ์ราคากลางที่กำหนดไว้มาก หวังจะซื้อข้าวรัฐราคาถูก จึงไม่อนุมัติขายให้ เขาอาจจะเก็งว่ารัฐต้องเร่งขาย เสนอราคาเท่าไรก็ต้องขาย แต่ไม่ใช่ เราขายของหลวง ต้องให้ได้ราคาเหมาะสม จะขายทิ้งแบบเทน้ำเทท่า หรือขายถูกไม่ได้ ซึ่งโดยรวมแล้วทั้ง 2 กอง ขายได้ในราคาใกล้เคียงราคาตลาด คาดว่าแนวโน้มราคาข้าวของไทยน่าจะปรับตัวสูงขึ้น จากปัญหาอากาศแปรปรวนทั่วโลก ทำให้ผลผลิตข้าวโลกเสียหาย ส่วนการขายข้าวรัฐต่อรัฐหลายประเทศ ติดต่อขอซื้อเข้ามามาก ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนเจรจากับประเทศกาตาร์” นายนิวัฒน์ธำรง กล่าว
ส่วนการเปิดประมูลข้าวรัฐผ่านตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟท) ปริมาณ 244,000 ตัน โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เปิดให้ยื่นซองเสนอราคา วานนี้ (12 มี.ค.) ที่กระทรวงพาณิชย์ นั้น จำเป็นต้องยกเลิก และต้องเลื่อนการประมูลไปเป็นวันที่ 26 มี.ค. นี้ เพราะมีกลุ่ม กปปส.ได้มาประท้วงที่กระทรวงพาณิชย์ และได้มีการตัดไฟ ทำให้การประมูลไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งน่าเสียดายแทนที่กระทรวงพาณิชย์จะได้คืนเงินจากการระบายข้าวให้กระทรวงการคลังโดยเร็ว ก็ต้องล่าช้าออกไปอีก โดยการประมูลครั้งนี้ หากขายได้หมด คิดเป็นมูลค่าราว 3,000 ล้านบาท
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากเปิดให้มีการยื่นซองประมูลตั้งแต่เวลา 09.00 น. และในช่วง 11.00 น. มีเอกชนยื่นซองประมูล 3 ราย ประกอบด้วย รายชื่อผู้ร่วมประมูล บริษัท ร่วมเจริญพัฒนาการข้าว จำกัด, บริษัท พิจิตร โรงสี ร่วมเจริญ 2 ไร้ซ์ จำกัด, ห้างหุ้นส่วน โรงสีอรุณพัฒนา จำกัด ซึ่งแตกต่างจากครั้งที่ 6 ที่ยื่นถึง 17 ราย
ปัดขรก.เกี่ยงเซ็นเบิกเงิน2หมื่นล้าน
ส่วนกรณีที่เงินงบกลาง 20,000 ล้านบาท ที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อนุมัติให้รัฐบาลนำมาจ่ายให้กับชาวนา ที่นำข้าวเข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2556/57 (รอบแรก) แต่ยังไม่ได้รับเงิน และมีข่าวว่า ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลังเกี่ยงกันเซ็นหนังสือเพื่อรับผิดชอบเงินก้อนนี้นั้น นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ข้อเท็จจริง ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ไม่มีใครเกี่ยงกัน แต่การดำเนินงานมีขั้นตอน ทำให้การนำเงินออกมาจ่ายให้ชาวนาล่าช้า
หนังสืออนุมัติจาก กกต. เพิ่งส่งมาถึงกระทรวงพาณิชย์ในช่วงเย็นวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา จนมาถึงวันที่ 10 มี.ค. กรมการค้าต่างประเทศ ได้ทำเอกสารงวดเงินเสร็จ และส่งไปที่สำนักงานงบประมาณ วันที่ 11 มี.ค. ขณะเดียวกัน วันที่ 12 มี.ค. ก็ได้ทำเรื่องขอยืมเงินทดรองงบกลางส่งไปให้กระทรวงการคลัง จากเดิมที่การนำเงินงบกลางมาใช้ จะส่งหนังสือถึงสำนักงบประมาณเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
"หนังสือการยืมเงิน และหนังสืองวดเงินเพิ่งทำเสร็จ ไม่ได้มีการโยนกัน แต่เป็นเรื่องกระบวนการในการทำเอกสาร คาดว่าวันศุกร์นี้ หรืออย่างช้าจันทร์หน้า จะได้เงินจากกระทรวงการคลัง จึงขอปฏิเสธข่าว ไม่มีปัญหาอะไร และไม่มีเรื่องน่าวิตกว่าทำแล้วผิดกฎหมาย” นายนิวัฒน์ธำรง กล่าว
คลังเดินหน้าหาเงินก้อนใหญ่ได้เดือนพ.ค.
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กระทรวงการคลังยังเดินหน้าหาเงินก้อนใหญ่ มาจ่ายหนี้ให้ชาวนาอย่างต่อเนื่อง เพราะว่างบกลาง 20,000 ล้านบาท รวมกับเงินจากการขายข้าวเดือนละ 8,000-10,000 ล้านบาทแล้วไม่เพียงพอ หรืออาจจะพอแต่ต้องใช้เวลานานเป็นปีกว่าจะจ่ายให้ครบ ชาวนาคงรอไม่ได้ ซึ่งในการประชุมครม.ครั้งที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้รายงานว่า จะหาเงินก้อนใหญ่มาให้ได้ภายในเดือนพ.ค. นี้ ส่วนจะด้วยวิธีการใดเป็นเรื่องของกระทรวงการคลังที่จะดำเนินการ
สุรศักดิ์ยันเซ็นแล้วยืมงบกลาง2หมื่นล้าน
นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ได้ลงนามหนังสือเพื่อเบิกจ่ายงบกลาง (ฉุกเฉิน) จำนวน 2 หมื่นล้านบาท โดยส่งหนังสือไปยังกระทรวงการคลังแล้ว คาดว่าขั้นตอนจะแล้วเสร็จ และนำเงินมาจ่ายให้ชาวนาภายใน 1-2 วันนี้ โดยยืนยันว่าการลงนามครั้งนี้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มอบหมายให้กรมเป็นผู้ดำเนินการ ไม่ได้หมายความว่าตนจะต้องรับผิดชอบหนี้จากการยืม
เบญจายันชงกิตติรัตน์เซ็นจ่าย2หมื่นล้าน
นางเบญจา หลุยเจริญ รมช.คลัง กล่าวว่า งบกลาง 20,000 ล้านบาท ที่จะนำจากงบประมาณปี 2557 ในขณะนี้ อยู่ในกระบวนการของการเบิกจ่ายเงินให้ถูกต้องตามกระบวนและขั้นตอนการเบิกจ่าย ซึ่งคาดว่า ไม่น่ามีปัญหาเพราะกระทรวง การคลังและกระทรวงพาณิชย์ได้หารือกันอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ หากเอกสารและขั้นตอนต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ตนจะเสนอให้เรื่องดังกล่าว ให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นผู้ลงนามในการจ่ายเงิน 20,000 ล้านบาท จากงบกลางไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
“ในช่วงนี้ ระบบการทำงานของข้าราชการติดขัดไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เพราะมีทั้งม็อบ กปปส. และม็อบชาวนามาล้อมกระทรวงการคลังเกือบทุกวัน การทำงานก็อาจมีความล่าช้าไปบ้าง แต่กระทรวงการคลังก็เร่งทำงานโดยเร็วที่สุด”
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ขณะนี้ กรมบัญชีกลางได้ประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินจากงบกลาง 20,000 ล้านบาท ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ส่งหนังสือการอนุมัติงบดังกล่าวให้แก่เลขาธิการ ครม.เมื่อวันที่ 7 มี.ค. และในวันที่ 10 มี.ค. กรมบัญชีกลางเพิ่งได้รับเอกสารอย่างเป็นทางการ จาก กกต. ไม่ได้ติดขัดอะไร
"ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอนของเอกสาร โดยยืนยันว่า อย่างเร็วที่สุดภายในสัปดาห์นี้ จะอนุมัติได้และเงินน่าจะถึงมือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในสัปดาห์หน้า "
ธ.ก.ส. รายงานว่า ข้อมูลกองทุนช่วยเหลือชาวนา ณ วันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา มียอดรวม 846,289,403 บาท แบ่งเป็น กองทุนที่ 1 (บริจาค) : จำนวน 18,800,590.61 บาท, กองทุนที่ 2 : คืนต้น-ไม่มีผลตอบแทน จำนวน 579,658,017.26 บาท และ กองทุนที่ 3 : คืนต้น- มีผลตอบแทนร้อยละ 0.63 ต่อปี จำนวน 247,830,795.26 บาท
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
|