ุ
เมื่อวันที่ 16 ก.พ. มีรายงานว่า คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย ร่วมกันจัดเสวนา จำนำข้าวพัง!! เพราะผิดพลาด หรือตั้งใจโกง มีการหยิบยกแนวนโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐบาลมาอภิปราย โดยนายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน อดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า การล่มสลายของโครงการรับจำนำข้าว เกิดจากทั้งการกำหนดนโยบายของรัฐบาลที่ผิดพลาด และการกำหนดวิธีปฏิบัติที่เชื่อได้ว่าตั้งใจโกง ซึ่งความผิดพลาดของนโยบายเกิดจากความพยายามในการกำหนดราคาข้าวฝืนกลไลตลาด โดยการไม่ส่งออกข้าว เพื่อให้ราคาเพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถบิดเบือนกลไกตลาดได้ จึงทำให้มีข้าวคงค้างในสต๊อกของรัฐบาลเป็นจำนวนมาก
ขณะที่การกำหนดวิธีปฏิบัติในโครงการรับจำนำก็ส่อต่อการทุจริต ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเกษตรกร ที่มีปริมาณผลผลิตมากกว่าประมาณการผลผลิตที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และมีการเปลี่ยนแปลงสัญญากับโกดังเก็บรักษาข้าว จากสัญญาฝากเก็บรักษาคุณภาพ เป็นเพียงสัญญาเช่าโกดัง โดยไม่ต้องตรวจสอบข้าว ทำให้ข้าวในโกดังมีคุณภาพต่ำ เกิดการเวียนเทียนข้าว ด้านการระบายข้าวก็มีปัญหาทั้งในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ส่วนวิธีประมูลก็เป็นการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง โดยมีผู้ส่งออกประมาณ 10 รายเท่านั้นที่สามารถประมูลได้
สำหรับกรณีที่รัฐบาลขอความร่วมมือจากสมาคมโรงสีข้าวไทยให้ช่วยรับจำนำใบประทวน เพื่อช่วยเหลือชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินรับจำนำข้าว นายนิพนธ์ มองว่า โรงสีอยากช่วยเหลือชาวนา แต่มีข้อจำกัดด้านวงเงิน เพราะต้องกันวงเงินไว้ส่วนหนึ่งในการซื้อข้าวนาปรังที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดใน ปลายเดือนก.พ.นี้ จึงช่วยรับจำนำได้บางส่วนเท่านั้น และกังวลว่า หากโรงสีรับจำนำใบประทวนมากเกินไป อาจผิดกฎหมายด้านธุรกรรมการเงิน เพราะปกติการจัดตั้งโรงจำนำยังจะต้องเสนอขอไปยังกระทรวงการคลัง ซึ่งส่วนนี้กระทรวงพาณิชย์จะต้องติดตามดูแลไม่ให้เกิดปัญหา
นายนิพนธ์ ยังกังวลว่า ชาวนาจะได้รับความเดือดร้อนเพิ่มเติม หลังผลผลิตข้าวนาปรังจะออกสู่ตลาดปลายเดือนนี้ เพราะรัฐบาลจะไม่มีเงินมาดำเนินโครงการรับจำนำข้าว โดยมองว่า ราคาข้าวปี 2557 จะมีราคาต่ำกว่าปี 2556 เพราะผลผลิตข้าวในตลาดโลกมากขึ้น สต๊อกข้าวอยู่ในระดับสูง และธัญพืชที่สามารถทดแทนข้าวได้ มีผลผลิตที่ดี ทั้งข้าวสาลี และข้าวโพด ทำให้ราคาข้าวจะอยู่ที่ระดับ 6,000-8,000 บาทต่อตันตามค่าความชื้น จึงมองว่ารัฐบาลอาจใช้แนวทางชดเชยต้นทุนการผลิต 3,000 บาทต่อตัน น่าจะสามารถช่วยเหลือชาวนาในวงเงินที่ต่ำลง
ทางด้าน นายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุง ในฐานะเลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวพัง เพราะขั้นตอนการกำหนดนโยบายไม่ละเอียด และขาดความเข้าใจตลาดข้าว ซึ่งธุรกิจข้าวของไทยไม่ได้มีเฉพาะข้าวหอมมะลิ แต่ก่อนมีนโยบายนี้ การส่งออกข้าวนึ่งเป็นการส่งออกอันดับหนึ่ง ขณะที่โครงการมีช่องโหว่ หละหลวม ทำให้เกิดการทุจริตได้
ส่วนการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ผู้ส่งออก และผู้ผลิตข้าวถุง สามารถเข้าร่วมประมูลข้าวออกไปได้ โดยมีราคาที่เหมาะสมกับราคาตลาด โดยผู้ส่งออกจะเร่งชำระเงินทั้งหมด ก่อนรับสินค้า เพื่อสามารถนำเงินไปให้ชาวนาโดยเร็วที่สุด
สำหรับคุณภาพข้าวในสต๊อกของรัฐบาล แม้จะยังสามารถปรับปรุงคุณภาพได้ แต่ต้องเสียค่าปรับปรุงคุณภาพข้าวให้โรงสีในอัตราที่สูงขึ้น โดยในปี 2555 อยู่ที่ 1,500 บาทต่อตัน ส่วนปี 2556 เพิ่มเป็น 2,000 บาทต่อตัน เพื่อให้คุณภาพดีกว่าข้าวในโกดังของรัฐบาล
ขณะเดียวกัน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ย้ำว่า โครงการรับจำนำข้าวล่มสลายแล้ว การที่รัฐบาลประกาศจะทยอยนำเงินมาจ่ายค่ารับจำนำข้าวให้ชาวนา เป็นเพียงการซื้อเวลา เพื่อลดแรงกดดันเท่านั้น และได้รับข้อมูลมาเบื้องต้นว่า รัฐบาลจะเร่งจ่ายให้กับชาวนาที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องก่อน จึงเกรงว่าจะเป็นแผนปิดปากชาวนาของรัฐบาล ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะเตรียมกู้อินเตอร์แบงค์นั้น เป้าหมายเพื่อให้ชาวนาได้เงิน ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยที่ชาวนาจะได้เงินเร็ว แต่รัฐบาลก็ต้องห้ามทำอะไรผิดกฎหมายเพิ่มเติมอีก
ทั้งนี้ มองว่าการที่ชาวนาไม่ได้เงินรับจำนำข้าวเป็นเพียงระเบิดลูกแรกเท่านั้น โดยระเบิดลูกที่ 2 จะเกิดขึ้นหลังจากข้าวนาปรังฤดูกาลใหม่ออกสู่ตลาด โดยราคาขัาวจะมีราคาเพียง 4,000-5,000 บาทต่อตันเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ โดยในวันพรุ่งนี้ (17 ก.พ. 57) จะเข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยจะส่งข้อมูลที่ชี้ว่า รัฐบาลทุจริตต่อหน้าที่ เพราะปล่อยให้รัฐเสียหายจากโครงการนี้
ที่มา ข่าวไทยรัฐออนไลน์
|