ุ
งานเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น เรื่อง “เลิกจำนำข้าว แล้วทางออกของชาวนาคืออะไร” จัดโดยคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา มีนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เป็นประธาน พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ตัวแทนกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวจะไม่สามารถทำต่อไปได้ โดย 3 ปีที่ผ่านมารัฐขายข้าวได้เพียง 300,000 ล้านบาท ขาดทุน 500,000 ล้านบาท ชาวนาได้รับเงินจริงเพียง 100,000 ล้านบาท มองว่าโครงการรับจำนำข้าวล้มเหลว ซึ่งทางออกดีที่สุด คือการช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิต โดยเกษตรกรที่ถือครองที่ดินไม่เกิน 20 ไร่ จ่ายไร่ละ 2,000 บาท บวกกับประกันราคาข้าวเปลือกตันละ 8,000 บาทที่ความชื้น15% และเกษตรกรถือครองที่ดินเกิน 30 ไร่ จะไม่มีการช่วยเหลือ โดยมองว่ากลุ่มนี้จะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวจะช่วยให้ชาวนาได้รับเงินมากกว่าโครงการรับจำนำในปัจจุบัน และจะใช้เงินงบประมาณเพียง 70,000-80,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ไทยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเน้นผลิตข้าวคุณภาพสูง และไม่ต้องไปแข่งขันกับเพื่อนบ้าน เช่น พม่า กัมพูชา ลาว เพราะที่ผ่านมาข้าวไทยเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ส่วนเกษตรกรที่ไม่สามารถปลูกข้าวคุณภาพสูงได้ให้หันไปปลูกพืชไร่ชนิดอื่นแทน เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง
นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลใช้วิธีการกู้เงินธนาคารต่อธนาคารแล้วนำเงินมาจ่ายให้กับเกษตรกร ซึ่งในหลักการไม่ขัดข้อง เพราะต้องเร่งช่วยเหลือเกษตรกร แต่ก็มีข้อเสีย คือ จะเกิดปัญหาไม่สามารถตรวจสอบและผิดหลักธรรมาภิบาล ดังนั้น ทางออกของรัฐบาล คือ ควรถอยและให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารแทน เนื่องจากเวลานี้การขายข้าวของรัฐบาลเฉลี่ยอยู่ที่ 12,000 บาทต่อตัน หากขายได้ 1 ล้านตัน เงินจะเข้าระบบเพียง 1,000 ล้านบาท ซึ่งกว่าจะชำระเงินให้กับเกษตรกรครบ เกษตรกรจะเดือดร้อนมากกว่าเดิม โดยมองว่าหากนำข้าวในสตอกรัฐบาลออกมาขายระยะ 1-2 เดือน อาจทำให้ตลาดข้าวในประเทศปั่นป่วน พร้อมแนะให้นำข้าวในสตอกบางส่วนเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นข้าวเพื่อสุขภาพจะช่วยระบายได้อีกช่องทางหนึ่ง
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้และชุดใหม่จะต้องดำเนินแก้ไขปัญหาสตอกข้าวที่ค้างสตอก โดยให้เร่งระบายข้าวใหม่ก่อนและให้เก็บสตอกข้าวเก่าไว้เพื่อรอเวลาระบาย เนื่องจากเร่งระบายทั้ง 2 พร้อมกันจะส่งผลให้ราคาข้าวจะตกต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากมีรัฐบาลใหม่เข้ามาอาจใช้วิธีประกันราคาข้าว โดยกำหนดราคาเพดานข้าว 10,000 บาทต่อตัน และใช้วิธีการชดเชยให้กับเกษตรกร 2,000-3,000 บาทต่อตัน ซึ่งจะใช้เงินเพียงหมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ สิ่งที่น่ากังวลใจขณะนี้ระบบข้าวนาปรังกำลังเข้ามา หากรัฐบาลนำข้าวในสตอกออกมาระบายเช่นนี้ ระบบข้าวนาปรังจะมีราคา 5,000-6,000 บาทต่อตัน ดังนั้นรัฐบาลจะต้องใช้วิธีการรณรงค์ให้ชาวนาลดการปลูกข้าวนาปรัง และรัฐชดเชยให้ชาวนา 3,000 บาท ใช้เงิน 10,000 ล้านบาท โดยอาจมีการปลูกข้าวครึ่งเดียวของการเพาะปลูกซึ่งส่วนนี้จะทำให้ระบบค้าข้าวสูงขึ้นและยอมรับว่า ไทยจะกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 1 ได้อีกครั้งในอีก 5 ปี และกว่าที่จะระบายสตอกข้าวทั้ง 15 ล้านตัน จะใช้เวลาถึง 5 ปี รัฐบาลชุดใหม่จะต้องหารือกับผู้ส่งออกเพื่อให้ไทยกลับมาเป็นผู้ส่งออก เพราะที่ผ่านมากลไกอุตสาหกรรมไทยถูกบิดเบือน โดยเฉพาะ 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลเป็นผู้กำหนดราคาทั้งรับจำนำและส่งออก ดังนั้นจึงไม่ใช่เพียงรัฐบาลชุดใหม่จะต้องดูแลอุตสาหกรรรมข้าวทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ
ที่มา สำนักข่าวไทย
|