ุ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงสถานการณ์ข้าวของโลก และยุทธศาสตร์ข้าวระยะยาวที่ต้องมีการแก้ไขทั้งระบบ ทั้งการผลิต การตลาด การสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกร และการขออนุมัติการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งตามการประเมินจากคณะอนุกรรมการปิดบัญชีหากขายข้าวทั้งหมดแล้วจะขาดทุนประมาณ 680,000 ล้านบาท ทั้งนี้ในการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้าวในโกดังของรัฐบาลที่ตรวจสอบแล้วผิดมาตรฐาน จะมีทั้งส่วนของคดีแพ่งและอาญา รวมทั้งเรียกค่าเสียหาย
“การระบายข้าวต่อจากนี้จะขายให้ทั้งในและต่างประเทศ โดยเปิดประมูล มีการตรวจสอบจากผู้ชำนาญการ โดยมีหลักการว่าการประมูลแบบยกคลัง หากคลังไหนคุณภาพสมบูรณ์ สามารถประมูลได้ทั้งคลัง แต่ถ้าคลังไหนแยกคุณภาพข้าวได้ไม่สมบูรณ์ให้แยกขายเป็นส่วนไป โดยมีการกำหนดราคาขั้นต่ำ หรือตั้งราคากลางไว้ อย่างไรก็ตาม การระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลจะดูระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบกับราคาข้าวที่จะออกใหม่ด้วย ไม่ใช่นำข้าวเก่าออกมาตีจนเกิดข่าวลือต่างๆนานา เป็นผลทำให้ราคาข้าวตกทั้งหมด อย่างไรก็ตามถึงวันนี้รัฐบาลมีความมั่นใจในนโยบายเรื่องข้าว ที่ดำเนินการอยู่ ซึ่งจะไม่ซ้ำกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา”
ส่วนข้าวในสต๊อกจากโครงการรับจำนำจะระบายหมดเมื่อใดนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ถ้าเร่งขายเร็วเกินไปราคาข้าวตก จึงจะใช้วิธีการระบายข้าวตามความต้องการ เพราะถ้าเก็บไว้นานก็จะมีผลกระทบกับคุณภาพข้าว รวมทั้งต้องคำนึงด้วยว่ารัฐต้องเสียค่าเช่าโกดังเก็บข้าว 2,000 ล้านบาทต่อเดือน โดยจะระบายข้าวให้เสร็จภายใน 2-3 ปี โดยการเปิดตลาดข้าวในประเทศเพิ่มขึ้น ให้เกษตรกรมาเป็นผู้ขายเอง และหาวิธีเพิ่มมูลค่าข้าวในแต่ละชุมชนด้วย
“ถ้าเปรียบเทียบข้าวไทยกับเวียดนาม ถือว่าสถานการณ์ดีขึ้น เพียงแต่ราคาข้าวของไทยสูงกว่าเวียดนามมาก ทำให้ข้าวไทยขายได้น้อยกว่า และในปี 2558 กำลังเป็นช่วงแย่งชิงการเป็นที่หนึ่งของการส่งออกข้าว ซึ่งทางเวียดนามเองเพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ว่าจะเป็นที่หนึ่งในการส่งออกข้าวให้ได้ แต่เรายังมั่นใจว่าจะรักษาการส่งออกข้าวให้เป็นอันดับหนึ่งต่อไป โดยไม่เน้นปริมาณอย่างเดียว แต่จะต้องมีคุณภาพให้ขายได้ในราคาที่สูงขึ้นด้วย”
ด้าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ เปิดเผยว่า มีข้าวคงเหลือในคลังกลางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) รวม 17.963 ล้านตัน แยกเป็นข้าวที่ผ่านมาตรฐาน 2.197 ล้านตัน หรือ 12.23% ของข้าวทั้งหมด, ข้าวไม่ตรงตามมาตรฐาน 14.405 ล้านตัน หรือ 80.19%, ข้าวเสีย 694,000 ตัน หรือ 3.86%,ข้าวผิดชนิด 68,000 ตัน หรือ 0.38% และข้าวกองล้มหรือข้าวที่ไม่สามารถตรวจสอบได้อีก 599,000 ตัน หรือ 3.34%
ทั้งนี้ คณะทำงานตรวจสอบและจัดระดับคุณภาพข้าวในสต๊อกของรัฐดำเนินการจัดระดับชั้นคุณภาพข้าวในที่ไม่ตรงตามมาตรฐาน 14.405 ล้านตัน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับคุณภาพ คือ ระดับคุณภาพเอ 6.1 ล้านตัน เป็นข้าวต่ำกว่ามาตรฐานไม่มาก เมื่อปรับปรุงแล้วจะมีสภาพไม่ต่างจากข้าวผ่านมาตรฐาน และระดับบีจำนวน 3.6 ล้านตัน ซึ่งต้องผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพที่ยุ่งยากจึงจะสามารถนำมาระบายได้ และระดับคุณภาพซี 4.7 ล้านตัน เป็นข้าวที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานมาก ไม่คุ้มค่าในการปรับปรุง
ซึ่งคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางจัดการข้าวในสต๊อกรัฐบาลได้นำเสนอการดำเนินการกับข้าวทุกระดับคุณภาพ ดังนี้ ข้าวที่ผ่านมาตรฐานให้ระบายแบบยกกอง/ยกคลัง ส่วนข้าวที่ไม่ตรงตามมาตรฐานแต่อยู่ในระดับเอ และบี ให้ระบายยกคลังตามสภาพ ส่วนข้าวที่ไม่ตรงตามมาตรฐานระดับซี ข้าวเสีย ข้าวผิดชนิด ข้าวกองล้ม ข้าวที่ไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพได้ ให้ระบายตามสภาพหลังจากที่ อคส. และ อ.ต.ก. แจ้งความดำเนินคดีกับผู้รับผิดชอบ รวมทั้งดำเนินคดีกรณีข้าวหายด้วย
ด้านนายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยจนถึงต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมามีจำนวน 10.2 ล้านตัน คาดว่าทั้งปี 2557 จะส่งออกข้าวได้ทั้งหมดประมาณ 10.5-10.6 ล้านตัน ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ตั้งแต่ไทยเคยส่งออกข้าวมา โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมาส่งออกข้าวได้ปีละ 6.5-6.7 ล้านตัน ซึ่งปี 2558 คาดว่าจะส่งออกข้าวได้เกิน 10 ล้านตันอีกเช่นกัน สำหรับสต๊อกข้าวของรัฐนั้น หากชาวนาไทยงดทำนาปรังสัก 2 ปี ซึ่งคิดเป็นผลผลิตข้าวสารปีละ 5-6 ล้านตัน จะช่วยให้สามารถระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลจากโครงการรับจำนำให้หมดไปได้ และราคาข้าวเปลือกจะกลับขึ้นไปอยู่ในระดับสูงขึ้น
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
|