ุ
นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปีนี้ กรมฯ มีแผนที่จะลงพื้นที่ให้ความรู้ แก่กลุ่มเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ โรงสี ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยอินทรีย์ และข้าวหอมมะลิไทย ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและ ภาคเหนือ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในระบบการผลิต การตลาด มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และแนวโน้มความต้องการข้าวอินทรีย์ของตลาดโลก เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ วางแผนการผลิต การทำตลาดได้อย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ ในแต่ละปี ไทยผลิตข้าวหอมมะลิไทยเฉลี่ย 4 ล้านตันข้าวสาร และส่งออกได้เฉลี่ยปีละ 2.65 ล้านตัน โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ เซเนกัล สหรัฐฯ ไอวอรี่โคสต์ จีน ฮ่องกง กานา มาเลเซีย สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ แคนาดา เป็นต้น แต่ปัจจุบันผู้บริโภคในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐฯ เอเชีย ซึ่งมีกำลังซื้อสูง ส่วนใหญ่คำนึงถึงการรักษาสุขอนามัยในระดับสูง และให้ความสำคัญกับอาหารปลอดภัยที่มีคุณภาพมาตรฐานมากขึ้น รวมถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงหันมาบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์มากขึ้น โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิอินทรีย์
สำหรับแนวทางการให้ความรู้ กรมฯ จะร่วมกับนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญในด้านเกษตรอินทรีย์ไปให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมาย โดยจะให้ความรู้ตั้งแต่ระดับการผลิต คือ ตัวเกษตรกร ที่จะต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามเงื่อนไขของเกษตรอินทรีย์ โดยไม่ใช้สารเคมี ในขณะที่กลุ่มโรงสี และผู้ประกอบการ ก็จะไปให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการผลิต การแปรรูป และการบรรจุหีบห่อ ที่จะต้องสามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนการผลิตเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ กับผู้ซื้อ โดยเมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ได้ไปยัง จ.ยโสธร ซึ่งได้รับความสนใจในการเข้าร่วมเป็นอย่างมาก เพราะมั่นใจว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์จะเติบโตสูงในอนาคต โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิอินทรีย์
ที่มา ข่าวไทยรัฐออนไลน์
|