ุ
นางจินตนา ชัยยวรรณาการ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชนเสนอให้ลดพื้นที่การเพาะปลูกข้าว และหาพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่มาเพาะปลูกแทน เช่น ปาล์มน้ำมัน อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง เพื่อแก้ปัญหาข้าวเปลือกที่ตกต่ำในอนาคต เพราะผลผลิตข้าวมีปริมาณมากกว่าความต้องการ ทั้งนี้แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นแผนระยะยาว คาดจะเสร็จสมบูรณ์ และดำเนินการภายในเดือนตค.2557นี้
"เบื้องต้นที่คิดกันไว้ คือการจะเริ่มเปลี่ยนพื้นที่ข้าว มาปลูกอ้อยแทน เพราะปัจจุบันความต้องการอ้อยในตลาดมีสูง แต่ผลผลิตอ้อยมีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะตลาดจีน ที่มีความต้องการอ้อยมาก เนื่องจากพื้นที่ภายในประเทศจีนไม่เหมาะสมในการเพาะปลูกอ้อย"
อย่างไรก็ตาม ในระยะเริ่มต้น พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงมือทำให้เป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรก่อน โดยขณะนี้มีแปลงทดลองอยู่กว่า 882 แห่งทั่วประเทศ ที่จะสามารถใช้เพาะปลูกสร้างเป็นตัวอย่างได้ ซึ่งจะเป็นงานรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการปลูกพืชตัวอย่าง เพื่อเสริมความรู้และจูงใจให้เกษตรกรและชาวสวนหันมาปลูกพืชตามแนวทางการจัดโซนนิ่ง
ทั้งนี้เชื่อว่าหากทำสำเร็จตามแผนยุทธศาสตร์ เปลี่ยนการเพาะปลูก จะช่วยลดต้นทุนการผลิต และทำให้เกษตรกรมีรายได้จากผลผลิตเพิ่มมากขึ้น คาดว่าภายใน 2 ปี จะเห็นภาพชัดเจน และจะสามารถช่วยลดการพึ่งพาการส่งออกข้าวได้ จากปัจจุบันที่ต้องส่งออกข้าวถึง 50% อาจลดลงเหลือเพียง 30% เท่านั้น
สำหรับแนวทางการรักษาระดับราคาข้าวเปลือกระยะสั้นนั้น คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าวแห่งชาติ(นบข.) ได้เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ และโรงสี ซื้อข้าวเปลือกฤดูกาลใหม่เก็บสต็อกไว้ โดยที่รัฐบาลจะจ่ายดอกเบี้ยให้ในอัตรา 3% ส่วน 2,000 ล้านบาท จะให้เกษตรกรกู้ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อให้นำเงินไปสีแปรสภาพเป็นข้าวสารเก็บไว้เพื่อรอขายในช่วงที่ราคาข้าวปรับตัวดีขึ้น คาดว่าจะสามารถเก็บสต็อกข้าวได้ 2 ล้านตันข้าวเปลือก รวมถึงจะมีการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก เพื่อให้ผู้ซื้อข้าวพบกับเกษตรโดยตรง โรงสีสามารถซื้อข้าวข้ามเขตที่มีปริมาณผลผลิตข้าวออกมาสูงได้
"ขณะนี้มีโรงสีที่สนใจเข้าร่วมโครงการเก็บสต็อกข้าวแล้ว 133 ราย จาก 26 จังหวัด คาดว่าจะสามารถเก็บสต็อกข้าวได้ 3.7 ล้านตันข้าวเปลือก ในส่วนชาวนาที่ยังไม่ขายข้าวและมียุ้งฉางของตัวเอง ธ.ก.ส. จะจ่ายเงินในวงเงิน 80% ของราคาข้าวในตลาด ให้ชาวนาก่อน โดยเมื่อราคาข้าวในตลาดดี สามารถนำข้าวไปขายเพื่อนำเงินมาคืนให้กับ ธ.ก.ส."
ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวถือเป็นการดึงผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาดได้ประมาณ 7 ล้านตันข้าวเปลือก จากปริมาณผลผลิตข้าวนาปีที่คาดว่าจะออกมา 27 ล้านตันข้าวเปลือก โดยมาตรการนี้จะใช้ระยะเวลา 6 เดือน คือตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 ถึงมีนาคม 2558 เพื่อไม่ให้ราคาข้าวตกต่ำ แต่ไม่นับรวมการระบายข้าวของรัฐบาลกับตลาดต่างประเทศที่ขณะนี้ที่มีคำสั่งซื้อแล้วกว่า 1.47 ล้านตันข้าวสาร จึงเชื่อว่าจะพยุงราคาข้าวเปลือกเจ้าที่ความชื้น 15% ในฤดูกาลใหม่ที่จะออกมาให้ได้ราคาไม่ต่ำกว่า 8,500 บาทต่อตัน
นอกจากนี้ในวันที่ 10 ตุลาคม คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.) จะประชุมหารือ เพื่อยกเลิกมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายสินค้าเกษตรสำคัญข้ามเขตหรือข้ามจังหวัด หลังไม่มีมาตรการจำนำสินค้าเกษตร
ที่มา หนังสือพิมพ์แนวหน้า
|