ุ
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า การส่งออกข้าวไตรมาสแรกปี 2558 (ม.ค.-มี.ค.) มีปริมาณ 2,126,549 ตัน มูลค่า 35,775 ล้านบาท โดยปริมาณส่งออกลดลง ร้อยละ 3.6 และมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่มีการส่งออกปริมาณ 2,205,926 ตัน มูลค่า 37,607 ล้านบาท ทั้งนี้ เดือนมกราคม-มีนาคม 2558 ประเทศผู้นำเข้าข้าวไทย 5 อันดับแรก ประกอบด้วย ไนจีเรีย ปริมาณ 220,284 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 71.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ ปริมาณ 213,542 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 283.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ไอวอรี่โคสต์ ปริมาณ 146,587 ตัน ลดลง ร้อยละ 15.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จีน ปริมาณ 138,883 ตัน ลดลงร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และแอฟริกาใต้ ปริมาณ 130,931 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
สำหรับการส่งออกข้าวเดือนมีนาคม 2558 มีปริมาณ 785,891 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องจากยังคงมีการส่งมอบข้าวขาวและข้าวนึ่งให้แก่ผู้ซื้อในแถบแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเดือนมีนาคมมีการส่งออกข้าวขาวปริมาณรวม 418,162 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยข้าวขาวส่วนใหญ่จะส่งไปประเทศแองโกล่า ฟิลิปปินส์ อิรัก จีน คองโก เป็นต้น ส่วนการส่งออกข้าวนึ่งมีปริมาณ 157,057 ตัน ลดลงร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ โดยข้าวนึ่งส่วนใหญ่ยังคงส่งไปประเทศไนจีเรีย แอฟริกาใต้ เยเมน เป็นต้น ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลินั้น มีปริมาณส่งออกรวม 191,170 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ โดยข้าวหอมมะลิคุณภาพดีถูกส่งไปประเทศสหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง กานา แคนาดา เป็นต้น ส่วนปลายข้าวหอมมะลิมีการส่งออกไปยังประเทศไอวอรี่โคสต์ เซเนกัล เป็นต้น
ส่วนสถานการณ์ราคาส่งออกข้าวเดือนเมษายน 2558 ปรับตัวลดลงจากเดือนมีนาคม เนื่องจากผู้ซื้อจากต่างประเทศชะลอการซื้อข้าวจากไทยและบางส่วนหันไปซื้อข้าวจากแหล่งที่ราคาถูกกว่า เช่น เวียดนาม อินเดีย ขณะที่ผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดมากขึ้นส่งผลให้อุปทานข้าวในตลาดเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ราคาที่ประกาศโดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ณ วันที่ 29 เมษายน 2558 ข้าวขาว 5% ราคาอยู่ที่ 393 เหรียญสหรัฐต่อตัน (เอฟโอบี) ขณะที่ราคาข้าวของประเทศคู่แข่งซึ่งรายงานโดยเว็บไซต์ ORYZA.COM ณ วันที่ 29 เมษายน 2558 ข้าวขาว 5% ของเวียดนามราคาอยู่ที่ 355-365 เหรียญสหรัฐต่อตัน (เอฟโอบี) ข้าวขาว 5% ของอินเดียราคาอยู่ที่ 365-375 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน (เอฟโอบี) ในขณะที่ข้าวขาว 5% ของปากีสถานราคาอยู่ที่ 375-385 เหรียญสหรัฐต่อตัน (เอฟโอบี)
อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดว่าเดือนเมษายนจะมีการส่งออกประมาณ 700,000 ตัน โดยเดือนนี้ยังคงมีการส่งมอบข้าวขาวให้แก่หน่วยงาน NFA ของฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่อง ส่วนการส่งมอบข้าวของเอกชนที่มีการซื้อขายทั่วไปในเดือนนี้ชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาประเทศผู้ซื้อข้าวที่สำคัญในแถบแอฟริกาต่างประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ทั้งจากการที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง จึงทำให้มีรายได้เข้าประเทศลดลง ขณะเดียวกันค่าเงินของประเทศในแถบแอฟริกาที่ผูกกับค่าเงินยูโรก็มีทิศทางอ่อนค่าลง จึงทำให้ผู้ซื้อบางส่วนชะลอการซื้อข้าวจากไทย หรือหันไปซื้อข้าวจากแหล่งที่มีราคาถูกกว่าไทย เช่น เวียดนาม อินเดีย ซึ่งต่างก็ปรับลดราคาส่งออกข้าวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าของไทย เพื่อดึงความสนใจของผู้ซื้อ ขณะที่เวียดนามประสบปัญหาการค้าชายแดนกับจีน ทำให้ไม่สามารถส่งออกข้าวไปทางชายแดนได้มากเหมือนปีที่แล้ว จึงต้องหาตลาดอื่นรองรับผลผลิตข้าวฤดูใหม่ที่ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ในส่วนของข้าวหอมมะลินั้นในช่วงนี้ตลาดประจำเช่น สหรัฐ และเอเชีย ยังคงมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่องแม้ปริมาณไม่มาก ขณะที่การส่งออกข้าวหอมมะลิใปยังตลาดสำคัญ เช่น ฮ่องกง ก็มีทิศทางที่ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
|