www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

จับตาส่งออกข้าวนึ่งไปไม่ถึง 3 ล้านตัน-ถูกแขกดัมพ์ราคาหนัก


นายสมเกียรติ มรรคยาธร เลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวนึ่งปี 2557 ปริมาณ 3.26 ล้านตันในปีที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่การส่งออกข้าวนึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์เพิ่มขึ้น 97.6% จากปี 2556 ซึ่งมีปริมาณ 1.6 ล้านตัน โดยตลาดข้าวนึ่งสำคัญ ในปีที่ผ่านมาตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ไนจีเรีย 1 ล้านตัน เบนิน 1 ล้านตัน และแคเมอรูน 5-6 แสนตัน แต่คาดการณ์การส่งออกข้าวนึ่งปี 2558 จะมีปริมาณ 2.7 ล้านตัน ลดลงจากปี 2557 ซึ่งมีปริมาณ 3.26 ล้านตัน

สาเหตุที่การส่งออกข้าวนึ่งลดลง เพราะราคาข้าวนึ่งไทยสูงกว่าคู่แข่งอินเดียอย่างมาก โดยล่าสุดราคาข้าวนึ่งไทย เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาตันละ 410-420 เหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีราคา 455-465 เหรียญสหรัฐ แต่ยังเป็นราคาที่สูงกว่าราคาอินเดียที่เหลือเพียง 390-400 เหรียญสหรัฐ จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ราคา 395-405 เหรียญสหรัฐ

นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไรซ์แลนด์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สถานการณ์การส่งออกข้าวนึ่งปีนี้ไม่ค่อยดีนัก คาดว่าเดือนมกราคม 2558 จะส่งออกได้เพียง 100,000 ตัน จากปกติที่เคยส่งออกได้สูงถึง 500,000 ตัน

เพราะตลาดหลักอย่างแอฟริกามีปัญหากำลังซื้อลดลง หลังจากรายได้จากการขายน้ำมันของแอฟริกาที่มีสัดส่วนมากกว่า 95% ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงถึง 50% อีกทั้งผู้นำเข้ารายใหญ่อย่างไนจีเรีย ได้ปรับลดค่าเงิน 8-10% จาก 160 เป็น 208 ไนร่าไนจีเรีย (NGN) ต่อเหรียญสหรัฐ เมื่อค่าเงินลดเท่ากับต้องซื้อของแพงขึ้น จึงเป็นห่วงว่าทางไนจีเรียอาจนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเบนินและแคเมอรูน หลังจากลดภาษีนำเข้า 70%

"ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนจะเป็นตัวช่วย และเป็นตัวฆ่าเราด้วย เพราะหลังจากใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) พิมพ์แบงก์แล้ว ไม่ได้ช่วยทุกคนก็จะมาลดค่าเงิน เพื่อให้การส่งออกแข่งขันได้ กลายเป็นสงครามสู้กัน ไทยควรต้องลดค่าเงินในระดับที่มากกว่าหรือเท่ากับคู่แข่ง อีกประการหนึ่งไทยต้องปรับลดดอกเบี้ย เพื่อลดแรงจูงใจในการนำเงินเข้า จากนั้นมาบริหารตะกร้าเงินให้อ่อนประมาณ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะช่วยให้การส่งออกสินค้าทุกตัวดีขึ้น"

ขณะที่สถานการณ์การผลิตข้าวเปลือกในประเทศ ในฤดูกาลนาปรังปี 2558 จากการสำรวจล่าสุดคาดว่า จะมีปริมาณลดลง 30-40% หลังจากรัฐบาลสั่งลดการผลิตเพื่อผ่อนคลายปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งจะทำให้ปริมาณข้าวเปลือกหายไปประมาณ 2 ล้านตัน ส่งผลให้แนวโน้มราคาข้าวเปลือกปรับตัวสูงขึ้น

"สรุปปัญหาขณะนี้คือ ผู้ส่งออกข้าวขายของไม่ได้ ราคาส่งออกเหลือเพียง 405-410 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงจากช่วงต้นปี คิดมาเป็นต้นทุนรับซื้อข้าวจากโรงสี 12,500 บาท แต่ผลผลิตนาปรังลด ข้าวเปลือกไม่มี โรงสีหาข้าวเปลือกไม่ได้ ต้องไปแย่งกันซื้อตันละ 8,200 บาทข้าวเปลือก มาผลิตเป็นต้นทุนตันละ 13,000 บาท ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกซื้อไม่ไหวตลาดเลยอยู่ในภาวะอึดอัด โรงสีที่ซื้อข้าวมาเก็บไว้ก็ขายไม่ได้ ต้องขอให้รัฐบาลช่วย เราไม่ขัดข้อง แต่ถ้าไปช่วยซื้อข้าวเปลือกเก็บ จะยิ่งทำให้ข้าวเปลือกขาดผิดหลักการ"

แหล่งข่าวจากสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า กรมการค้าภายใน ได้จัดทำโครงการส่งเสริมให้โรงสีรับซื้อข้าวเปลือกเก็บสต๊อกเพื่อนำไปผลิตข้าวนึ่ง โดยโรงสีสามารถสมัครที่ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นลูกค้าอยู่ รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ไปเก็บเป็นระยะเวลา 3 เดือนนับตั้งแต่ 15 กุมภาพันธ์ 2558 แล้วรัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยดอกเบี้ยให้กับธนาคาร อัตรา 3% คาดว่าจะมีเป้าหมายเก็บข้าวเปลือกได้ถึง 2 ล้านตันข้าวเปลือก ใช้งบประมาณจำนวน 300 ล้านบาท

"ผู้ส่งออกกังวลว่าเมื่อลดการปลูกนาปรังปีนี้ จะทำให้ข้าวเปลือกที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตข้าวนึ่งขาดแคลน จึงได้ปรับปรุงโครงการนี้มาใช้อีกครั้ง จากที่เคยทำในฤดูการผลิตนาปีแต่ไม่สำเร็จ โรงสีเข้าร่วมโครงการน้อย ครั้งนี้จึงจูงใจให้สต๊อกเป็นข้าวเปลือก เพื่อให้โรงสีข้าวที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำไปขายให้โรงสีข้าวนึ่ง ในช่วงเดือมีนาคม-เมษายน ถือว่าใช้เงินไม่มาก แต่ช่วยยกระดับราคาได้ จากปัจจุบันที่ผู้ส่งออกรับซื้อข้าวนึ่งในราคาที่ลดลงตันละ 100-200 บาท จาก 12,500 บาทต่อตันเหลือ 12,300 บาทต่อตัน" รายงานจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยระบุว่า การส่งออกข้าวในเดือนมกราคม 2558 มีปริมาณ 608,506 ตัน มูลค่า 10,888 ล้านบาท ปริมาณส่งออกลดลง 12.6% และมูลค่าลดลง 12.0% เมื่อเทียบกับปี 2557 โดยหากมองการส่งออก "ข้าวนึ่ง" มีปริมาณ 124,080 ตัน ลดลง 62.8% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม

ตลาดหลักส่วนใหญ่ยังคงส่งไปยังประเทศไนจีเรีย แอฟริกาใต้ เยเมน เบนิน สาเหตุจากสต๊อกข้าวของประเทศผู้ซื้อโดยเฉพาะในแถบแอฟริกายังคงมีปริมาณมากประกอบกับราคาข้าวของไทยอยู่ในระดับที่สูงกว่าดังนั้น จึงคาดว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 นี้ปริมาณส่งออกภาพรวมประมาณ 700,000 ตัน

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

 

TREA on Facebook


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2015 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.