ุ
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการเปิดซองเสนอราคาประมูลข้าวสารสต็อกรัฐบาล ครั้งที่ 3/2558 ปริมาณ 1.06 ล้านตัน จาก 153 คลัง เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ว่า มีผู้ประกอบการที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติรวม 43 ราย แต่มายื่นประมูล 40 ราย โดยประมูลซื้อข้าวใน 109 คลัง และเสนอราคาผ่านเกณฑ์มูลค่าขั้นต่ำ 107 คลัง ปริมาณ 8.4 แสนตัน หรือคิดเป็น 79% ของปริมาณที่เปิดประมูล คิดเป็นมูลค่า 7,800 ล้านบาท และไม่ผ่านเกณฑ์ราคาขั้นต่ำ 2 คลัง ปริมาณ 15,800 ตัน ส่วนอีก 44 คลัง ปริมาณ 2.09 แสนตัน ไม่มีผู้ยื่นประมูลเสนอราคา
ทั้งนี้ กรมจะรวบรวมรายชื่อผู้ที่เสนอซื้อมูลค่าสูงสุดในแต่ละคลัง เสนอให้ประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัด การข้าว (นบข.) พิจารณา คาดว่าน่าจะภายในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ ก่อนที่จะแจ้งผลการประมูลข้าวให้กับผู้ที่ชนะการประมูล
สำหรับเรื่องคุณภาพข้าวที่ผู้ประกอบการมีความกังวล กรมยืนยันว่าข้าวที่นำมาเปิดประมูลเป็นข้าวที่ผ่านการตรวจสอบคุณ ภาพแล้ว โดยมีทั้งข้าวที่เป็นไปตามมาตรฐาน และข้าวที่ต้องปรับ ปรุงคุณภาพ แต่ไม่ใช่ข้าวที่ไม่สามารถปรับปรุงได้ และจากการตรวจสอบรายชื่อผู้ที่เข้ามาประมูล ส่วนใหญ่ก็เป็นรายเดิมๆ แสดงว่าทุกคนยังให้ความสนใจในการเข้าร่วมประมูลข้าว
น.ส.บรรจงจิตต์กล่าวว่า ตั้ง แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ กรมได้เปิดประมูลข้าวแล้ว 7 ครั้ง สามารถระบายข้าวได้ประมาณ 2.88 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท และเตรียมเปิดประมูลในเดือน ก.ค.นี้ ปริมาณ 1 ล้านตัน หากระบายได้หมด จะทำให้ระบายข้าวในสต็อกออกไปได้ประมาณ 4 ล้านตัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากคิดกำไรขาดทุนจากทั้ง 7 ครั้ง รวม 3 ล้านตัน เฉลี่ยขายได้ประมาณตันละ 1 หมื่นบาท เพราะได้เงินคืนมา 3.1 หมื่นล้านบาท ถ้าคิดต้นทุนข้าวเฉลี่ยตันละ 2 หมื่นบาท รัฐขาดทุนจากการระบายข้าวประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
|