www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai
การควบคุมมาตรฐานสินค้าส่งออกข้าวหอมมะลิไทย

 

เนื่องจากข้าวหอมมะลิไทยจัดเป็นข้าวที่มีคุณภาพสูง ( premium grade) เป็นข้าวนาปี ปริมาณ ผลผลิตจำกัด จึงมีผู้ไม่หวังดีบางรายทำการปลอมปน ทำให้ราคาข้าวตกต่ำ ขาดความเชื่อถือจากผู้ซื้อ ซึ่งในที่สุดส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศและการส่งออกของไทย ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงได้กำหนดให้ข้าวหอมมะลิไทยเป็นสินค้ามาตรฐานและมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย (ข้าวพันธุ์ดอกมะลิ 105 และ กข. 15 ความบริสุทธิ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 92) เป็นมาตรฐานบังคับ มีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2545 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นของผู้ซื้อและยกระดับราคาข้าวหอมมะลิไทยส่งออกให้สูงขึ้น

ในส่วนของสำนักงานมาตรฐานสินค้า กรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งรับผิดชอบในการกำกับดูแลคุณภาพมาตรฐานสินค้าส่งออกโดยตรงตาม พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 จึงได้มีมาตรการป้องปรามการปลอมปนข้าวหอมมะลิไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมากมายหลายประการ ดังนี้

1. กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ประสานกับกระทรวงมหาดไทย จัดประชุม ผู้ว่าราชการจังหวัด 19 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิไทย เพื่อกำหนดแนวยุทธศาสตร์การรักษาคุณภาพมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยตั้งแต่ระดับโรงสี โดยขอความร่วมมือจังหวัดในการกำกับดูแลคุณภาพข้าวหอมมะลิไทยอีกทางหนึ่ง สนับสนุนให้มีการรับรองโรงสีที่ผลิต และจำหน่ายข้าวหอมมะลิไทยที่มีคุณภาพ รวมทั้งติดตามตรวจสอบคุณภาพข้าวในระหว่างให้การรับรอง โดยการสุ่มเก็บตัวอย่างข้าวจากโรงสีดังกล่าว ส่งตรวจวิเคราะห์ DNA หากตรวจพบโรงสีใดมีคุณภาพไม่ถูกต้องตามมาตรฐานกำหนด ก็จะแจ้งให้จังหวัดระงับการรับรอง ซึ่งเป็นการกำกับดูแลคุณภาพมาตรฐานสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำ โรงสีข้าวที่ผ่านการรับรองจากจังหวัด ทางกรมการค้าต่างประเทศก็จะนำรายชื่อโรงสีเผยแพร่ทาง INTERNET และตามสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ส่งออกและผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศรู้จัก

อนึ่ง สำนักงานมาตรฐานสินค้า ยังได้มีการทวนสอบเป็นระยะๆ โดยได้สุ่มเก็บตัวอย่างข้าวหอมมะลิไทย จากโรงสีที่จังหวัดให้การรับรองแล้วทั้ง 56 โรง ส่งตรวจวิเคราะห์ DNA พบว่าข้าวของโรงสีทั้งหมดมีความบริสุทธิ์ของข้าวอยู่ระหว่างร้อยละ 96-100 ค่าเฉลี่ยความบริสุทธิ์ของข้าวร้อยละ 99 ดังนั้น จะเห็นได้ว่าระดับความบริสุทธิ์ของข้าวอยู่ในระดับสูงเป็นที่น่าพอใจมาก

นอกจากนี้ ยังมีแผนช่วยพัฒนาแบรนด์ในระดับจังหวัดด้วย โดยสนับสนุนให้โรงสีและผู้ส่งออกที่ได้รับการคัดเลือกจากจังหวัดให้สามารถสร้างตราข้าวหอมมะลิไทยของตนเอง ( Private Brand) โดยจังหวัดต้องสร้างสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ที่บ่งบอกว่าสินค้านั้น ๆ มาจากแหล่งภูมิศาสตร์แหล่งนั้น ๆ จึงจะเป็นสินค้าที่ดีมีคุณภาพพิเศษ เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด ข้าวหอมสุรินทร์ เป็นต้น วิธีการดังกล่าวนี้น่าจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวหอมมะลิไทยได้ดีอีกทางหนึ่ง และยังเป็นการเพิ่มผลประโยชน์แก่เกษตรกรในพื้นที่อีกทางหนึ่ง อนึ่ง กรมการค้าต่างประเทศได้ขอความร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดในการสอดส่องและตรวจจับการขนข้าวจากภาคกลางขึ้นไปปลอมปนกับข้าวหอมมะลิไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งอบรมโรงสีในพื้นที่ให้ตื่นตัว เฝ้าระวังและไม่รับซื้อข้าวเปลือกที่สงสัยที่ขนขึ้นไปขาย

2. จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ มาตรฐานและการค้าข้าวหอมมะลิไทย” เพื่อเผยแพร่มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจข้าวหอมมะลิไทยในภูมิภาค มีความรู้ ความเข้าใจในกฎเกณฑ์ ระเบียบ กระบวนการส่งออก และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ส่งออกที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ จังหวัดขอนแก่น อุบลราชธานี มหาสารคาม ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด และในภาคเหนือที่จังหวัดเชียงราย พิษณุโลก และนครสวรรค์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจัดการฝึกอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์ทางพันธุกรรม ( DNA) ให้แก่บุคลากรของสถาบัน การศึกษาในท้องถิ่น ที่เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิไทย เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ มีความสามารถตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมข้าวได้ เป็นการให้บริการแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการค้าข้าวหอมมะลิไทยในพื้นที่ให้ได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอ เทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการฝึกอบรมดังกล่าว ซึ่งมีผู้แทนสถาบันฯ เข้าฝึกอบรมแล้ว 11 คน จาก 6 สถาบัน และขณะนี้ได้รับแจ้งว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สามารถให้บริการตรวจวิเคราะห์ DNA ข้าวได้แล้ว

3. ในด้านการกำกับดูแลคุณภาพข้าวหอมมะลิไทย สำนักงานมาตรฐานสินค้าได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ มส. ไปกำกับดูแลการตรวจสอบคุณภาพสินค้าขณะตรวจปล่อย ในปี 2549 สุ่มกำกับประมาณร้อยละ 14.5 ของจำนวนครั้งที่แจ้งให้ตรวจสอบ เพื่อให้ผู้ส่งออก ผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบ และผู้ตรวจสอบฯ ได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด และมีการตรวจสอบคุณภาพอย่างเข้มงวด เมื่อตรวจพบว่าข้าวที่จะส่งออกมีคุณภาพไม่ถูกต้อง ก็จะให้ปรับปรุงคุณภาพก่อนส่งออก หรือตรวจพบว่าไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบฯ ก็จะมีการลงโทษ ในปี 2549 ที่ผ่านมา ได้มีการลงโทษผู้กระทำผิด โดยทำหนังสือตักเตือนผู้ส่งออก 20 ราย ผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบฯ 4 ราย ภาคทัณฑ์ผู้ส่งออก 3 ราย ทัณฑ์ บนผู้ส่งออก 1 ราย ผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบฯ 1 ราย ผู้ตรวจสอบฯ 1 ราย และพักใช้ใบอนุญาต ผู้ตรวจสอบฯ 3 ราย และสั่งอายัดสินค้าผู้ส่งออก 16 ราย

4. สุ่มเก็บตัวอย่างข้าวหอมมะลิไทยขณะส่งออก เนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พัฒนาข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพดี มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิไทยมาก ( ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15) การตรวจสอบทางกายภาพและการตรวจวิเคราะห์ทางเคมี ไม่ สามารถแยกแยะความแตกต่างได้อย่างชัดเจนและแม่นยำ จึงเกิดปัญหาการนำข้าวปทุมธานี 1 มาปลอมปน เข้าไปในข้าวหอมมะลิไทยที่ส่งออก ซึ่งปัญหานี้อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ระดับโรงสีถึงขั้นผู้ส่งออกอันจะมีผลกระทบต่อคุณภาพ ราคา ความเชื่อถือและชื่อเสียงของข้าวหอมมะลิไทย คต. จึงต้องมีมาตรการเข้มงวดในการตรวจสอบ โดยใช้วิธีการตรวจสอบสายพันธุ์ข้าว ( DNA) ที่ ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยี DNA ของศูนย์พันธุ วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ (BIOTEC) อ.กำแพงแสน จ. นครปฐม โดยจะทราบผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่ง DNA นี้ เป็นวิธีการตรวจสอบ/วิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพในปัจจุบัน โดยการส่งเจ้าหน้าที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าออกไปสุ่มเก็บตัวอย่างแล้วส่งตรวจ DNA หากพบว่าคุณภาพข้าวไม่ถูกต้องจะระงับไม่ให้ส่งออกและให้นำไปปรับปรุงคุณภาพให้ได้มาตรฐานก่อนจึงจะอนุญาตให้ส่งออกได้ กรณีที่พบว่ามีผู้กระทำผิดซ้ำอีก จะลงโทษตามมาตรการที่กำหนด ตั้งแต่ตักเตือนจนถึงการเพิกถอนการจดทะเบียนฯ ตั้งแต่ปี 2547 2548 และ 2549 ได้สุ่มเก็บตัวอย่างข้าวหอมมะลิไทยของผู้ส่งออกขณะตรวจปล่อยเพื่อสงตรวจ DNA พบว่า มีคุณภาพไม่ถูกต้องตามมาตรฐานร้อยละ 20.0 5.33 และ 5.76 ตามลำดับ

5. การใช้เครื่องหมายรับรองคุณภาพข้าวหอมมะลิไทย ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าข้าวหอมมะลิไทย ทั้งภายในและต่างประเทศ เช่น ผู้ส่งออก ห้างสรรพสินค้า ผู้ค้าปลีก โรงแรม และภัตตาคาร เป็นต้น สามารถขออนุญาตใช้เครื่องหมายดังกล่าวได้ ซึ่งผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายดังกล่าว จะต้องรักษาคุณภาพข้าวหอมมะลิไทยให้มีความบริสุทธิ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 92 หากตรวจพบว่าผู้ได้รับอนุญาตรายใดผลิตข้าวไมถูกต้องตามมาตรฐานกำหนด จะดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด นอกจากนี้ ทางกรมฯ ยังได้จัดกิจกรรมเจรจาทำธุรกิจร่วมกัน ( Business Matching) ระหว่างกลุ่มร้านอาหาร/ภัตตาคาร ห้างสรรพสินค้า กับโรงสี ผู้ผลิตข้าวหอมมะลิไทย ปี 2549 ที่ผ่านมาได้จัดขึ้นที่จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต สุโขทัย และเชียงใหม่ ล่าสุดกรมฯ ได้จัดกิจกรรมสร้างตราสัญลักษณ์ข้าวหอมมะลิไทยเจาะผ่านกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยรณรงค์และสร้างกระแสการบริโภคข้าวหอมมะลิไทยในประเทศเพื่อเชื่อมโยงสู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ และจัดกิจกรรมร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในช่วงเทศกาล (high season)

6. อนึ่ง กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดมาตรฐานข้าวหอมปทุมธานี 1 ขึ้นมาตั้งแต่ตุลาคม 2547 โดยเป็นมาตรฐานแนะนำ/มาตรฐานสมัครใจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับข้าวปทุมธานี 1 ให้สูงกว่าข้าวขาวแต่ต่ำกว่าข้าวหอมมะลิไทย และจะใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการขยายตลาดข้าวส่งออกของไทย โดยมี 3 ระดับคุณภาพ (3 Segment) คือ ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวหอมปทุมธานี 1 และข้าวขาว ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อและความต้องการของแต่ละตลาด

ปัญหาการปลอมปน

ถึงแม้สำนักงานมาตรฐานสินค้า ได้ดำเนินการเกี่ยวกับกำกับดูแลคุณภาพข้าวหอมมะลิไทยอย่างเข้มงวด ตลอดจนส่งเสริม รักษาและยกระดับคุณภาพข้าวหอมมะลิไทยให้เป็นที่เชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค ตั้งแต่ระดับการผลิตจนถึงการส่งออก ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่จะป้องกันการปลอมปนข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมา ได้ผลเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่งในการป้องกันการปลอมปน ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาภายในประเทศตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 อย่างไรก็ตาม ยังคงพบว่ามีปัญหาการปลอมปนข้าวหอมมะลิไทยอยู่ ทั้งภายในและต่างประเทศ ดังนี้

1. การกำกับดูแลคุณภาพสินค้ามาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย เป็นการสุ่มออกไปกำกับฯ ไม่ได้ออกไปทุกครั้งที่มีการส่งออก อาจทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยตามมาตรฐานกำหนด ส่งผลให้มีการนำข้าวพันธุ์อื่นปนเข้าไปในข้าวหอมมะลิไทยที่ส่งออกได้

2. กรมการค้าต่างประเทศ ไม่มีอำนาจในการกำกับดูแลคุณภาพข้าวที่วางจำหน่ายในท้องตลาดภายในประเทศ เว้นแต่ผู้จำหน่ายข้าวหรือผู้ใช้ข้าวเพื่อบริการภายในประเทศ ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยจากกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งจะต้องวางจำหน่ายหรือใช้ข้าวที่มีคุณภาพตามมาตรฐานกำหนดของโรงสีที่จังหวัดให้การรับรองแล้วเท่านั้น

3. การนำข้าวที่ส่งออกไป Re-pack ใหม่ โดยใช้ภาชนะบรรจุเช่นเดียวกับที่ส่งออก ซึ่งไม่สามารถบังคับหรือลงโทษผู้ส่งออกได้ แต่ถ้าผู้นำเข้า ทำการ Re-pack ข้าวใหม่ โดยประทับเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย หรือประทับข้อความ THAI HOM MALI RICE ก็สามารถสุ่มเก็บตัวอย่างข้าวนั้น เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ DNA และดำเนินการลงโทษผู้ละเมิดใช้เครื่องหมายฯ โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แต่มีข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหา

4. ตรวจพบมีการส่งกระสอบเปล่าเป็นจำนวนมากเข้าตู้คอนเทนเนอร์ไปพร้อมกับข้าวหอมมะลิไทยที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว โดยกระสอบเปล่าดังกล่าวมีการประทับข้อความต่าง ๆ บนกระสอบบรรจุเช่นเดียวกับสินค้าที่ส่งออก ทำให้เป็นช่องทางของการนำข้าวชนิดอื่นปลอมปนหรือข้าว ที่มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐานไปบรรจุใหม่ที่ปลายทาง ทั้งนี้ผู้ส่งออกมักอ้างว่าเป็นการเผื่อกระสอบแตก ทั้ง ๆ ที่กระสอบในปัจจุบันเป็น Polypropylene ไม่ใช่กระสอบป่านเช่นในอดีต และยังเย็บปากกระสอบอย่างแน่นหนาด้วยเครื่องจักร ทำการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์

แนวทางแก้ไข

1. หัวใจของการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดอยู่ที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้าข้าวหอมมะลิไทย ต้องยึด หลักเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยต้องรู้จักความพอดี ความพอประมาณ และความมีเหตุมีผล รวมทั้งต้องมีจิตสำนึก มีความตระหนัก มีความซื่อสัตย์ มีจรรยาบรรณในวิชาชีพของตน มุ่งมั่นในการควบคุมและพัฒนายกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าอยู่ตลอดเวลา ( Continuous Improvement) ทั้งนี้ เพื่อรักษาชื่อเสียงและภาพลักษณ์สินค้าไทยในตลาดโลก

2. นอกเหนือจากการเน้นตัวมาตรฐานสินค้า ( Product Standard) แล้วปัจจุบันยังต้องเน้นตัวมาตรฐานระบบ (System Standard) ด้วย โดยในส่วนของเกษตรกรต้องรีบนำหลักการผลิตทางเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice: GAP) มาเป็นแนวทางในการเพาะปลูก ส่วนภาคโรงสีและผู้ส่งออกต้องรีบนำหลักการผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practice: GMP) และหรือหลักการวิเคราะห์จุดอันตรายและควบคุมวิกฤต (Hazard Analysis and Critical Control Point: HACCP) มาใช้ในองค์กรของตน

3. ผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้าข้าวหอมมะลิไทยทั้งระบบต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และผลิตภาพ (Productivity) ในส่วนของตนให้สูงขึ้น เพื่อลดต้นทุนเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน   

ที่มา สำนักงานมาตรฐานสินค้า กระทรวงพาณิชย์

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2016 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.