www.thairiceexporters.or.th
 
home about us members contact us FAQ link site map English Thai
Member Login
สมัครสมาชิกสมาคมฯ
สมาคมโรงสีข้าวไทย
คู่มือการส่งออกข้าว
ข้อมูลสถานการณ์ข้าวของต่างประเทศ
มาตรฐานข้าวไทย
องค์ความรู้เรื่องข้าว
THAI HOMMALI RICE WEBSITE
ข้าว GI
โครงการรับจำนำข้าว
การพยากรณ์ผลผลิต
การเจรจาการค้า
การประมูลข้าวสารคในสต็อกรัฐบาลโดยอิงราคา AFET
 


ข้าวไทยศูนย์กลางพันธุ์ข้าวยุคใหม่

 

     การพัฒนาพันธุ์ข้าวและการทำนาตามหลักวิทยาการเกษตร ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยทรงโปรดให้ขุดคลองขึ้นหลายแห่ง อาทิเช่น คลองชลประทานรังสิต เป็นต้น ทรงพิจารณาว่าข้าวจากเมล็ดปะปนกันหลายพันธุ์และยังทรงโปรดให้มี การจัดประกวดพันธุ์ข้าวขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2450 ซึ่งเป็นการประกวดพันธุ์ข้าวจากทุ่งคลองหลวงรังสิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการอุดหนุนและบำรุงหาพันธุ์ข้าวที่ดีมาใช้ทำพันธุ์ เพื่อให้ข้าวของประเทศสยามเจริญดีมีราคาขึ้นเท่าเทียมกับข้าวประเทศอื่นๆ

     ต่อมาในปี พ.ศ. 2451 การประกวดพันธุ์ข้าวครั้งที่ 2 ขยายการประกวดพันธุ์ข้าวทั่วประเทศที่วัดสุทัศน์เทพวรารามในกรุงเทพฯ ปรากฏว่าพันธุ์ข้าวที่ชนะเลิศเป็นข้าวนาหว่านจากธัญบุรี

     ในปี 2453 ได้ทรงให้จัดงานแสดงกสิกรรมและพาณิชย์ไทยครั้งที่ 1 ขึ้นที่ปทุมธานี และครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2454 ปรากฏว่าพันธุ์ข้าวที่ชนะเลิศเป็นข้าวจากธัญบุรีอีกเช่นเคย

     นอกจากนี้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนเฉพาะกิจขึ้นในกรมต่างๆ เช่น กรมเพาะปลูก กรมคลอง กรมแผนที่ เป็นต้น และมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศมาช่วยงานทางวิชาการและการสอนภาษา รวมทั้งคัดเลือกให้ทุนนักเรียนส่งไปศึกษาต่อต่างประเทศ ในปีนี้เองที่กรมเพาะปลูกได้เลือกให้ นายตริ มิลินสูต ได้รับทุนไปเรียนวิชาแผนที่และเกษตรกรที่สหรัฐอเมริกา นับเป็นนักเรียนทุนหลวงคนแรกจากมหาวิทยาลัย Cornell

     ในปี 2459 ได้จัดตั้งสถานีทดลองข้าวคลองรังสิต (นาทดลองคลองรังสิต) เป็นสถานีทดลองข้าวแห่งแรกของประเทศไทยที่มีผลงานพัฒนาสายพันธุ์ข้าวไทยจนถึงปัจจุบัน

     หลังจากนั้นในปี 2464-2465 ได้จัดงานบำรุงพันธุ์ข้าว เป็นการรวมพันธุ์ข้าวดีจากทั่งประเทศโดยให้สมุหเทศาภิบาลในมณฑลต่างๆ ทั้ง 18 มณฑล นำตัวอย่างข้าวพันธุ์ดีจำนวน 4,764 ตัวอย่างจากทั่วประเทศโดยสมุหเทศาภิบาลของมณฑลเป็นผู้ตรวจ ทดสอบเป็นเวลา 3 ปี จึงคัดเอาพันธุ์ข้าวดีเยี่ยมไว้เพียง 8 พันธุ์ สำหรับเริ่มขยายพันธุ์เผยแพร่ไปยังเกษตรกรได้แก่ พันธุ์พวงเงิน ทองระย้า ขาวทดลอง จำปาซ้อน ปิ่นแก้ว บางพระ น้ำดอกไม้ และนางตานี

     โครงการขยายพันธุ์ข้าวในสมัยนั้น ได้จัดตั้งกรมการข้าว (2469) ครอบคลุมจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งเหมาะสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก เกษตรกรมีความจำเป็นต้องปลูกพันธุ์ข้าวที่มีช่วงเวลาเก็บเกี่ยวแตกต่างกันให้เหมาะสมกับสภาพความลุ่มดอน และความตื้นลึกของระดับน้ำในนา ซึ่งพันธุ์ข้าวที่มีอายุแตกต่างกันยังช่วยให้มีการกระจายแรงงานทั้งในฤดูปักดำและฤดูเก็บเกี่ยว

     ในปี 2462 ได้ก่อตั้ง สถานีทดลองข้าวทุ่งบางปะหัน วัดเขาดิน อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากในพื้นที่นาภาคกลางเป็นที่ลุ่มมีน้ำท่วมขังในฤดูทำนาลึกกว่า 1-5 เมตร ประมาณ 3 ล้านไร่ ที่ไม่อาจปลูกข้าวนาสวนได้จำเป็นต้องใช้พันธุ์ข้าวนาเมือง (ข้าวขึ้นน้ำ) ซึ่งสามารถเติบโตให้ผลผลิตได้ในที่น้ำลึก เพื่อทดลองปรับปรุงพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำ

     จนถึงปี 2473 ได้ประสบความสำเร็จ สามารถคัดเลือกพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำพันธุ์ดี ที่มีเมล็ดยาวใกล้เคียงลักษณะมาตรฐานของพันธุ์ข้าวปิ่นแก้ว และคุณภาพดีกว่าพันธุ์ข้าวดีกว่าพันธุ์ข้าวนาเมืองพันธุ์ พื้นเมืองทั่วไป ขึ้นมาจำนวน 4 พันธุ์ คือ มะลิทอง มะลิอ่อง จำปา (จีน) และ (เจ๊ก) กอดพ้อม ซึ่งได้รับความนิยมจากชาวนาอย่างรวดเร็ว ช่วยให้ข้าวขึ้นน้ำมีคุณภาพและราคาดีขึ้น

     ต่อมาเจ้าของที่ดินที่บางปะหันได้ขอที่ติดตั้งสถานีฯ คืน จึงได้ปิดลงและรัฐได้มาเปิด(กิ่ง) สถานีทดลองข้าวขึ้นน้ำหันตรา พระนครศรีอยุธยา แทนโดยเป็นสถานีทำการทดลองเรื่องข้าวขึ้นน้ำต่อมาจนถึงปัจจุบัน

 

ตำนานพันธุ์ข้าวปิ่นแก้ว

 

     ในปี พ.ศ. 2470 ข้าวไทยถูกกล่าวหาว่าด้อยคุณภาพทำให้ราคาข้าวตกต่ำ ทางสถานีฯ จึงจัดให้มีการประชุมระหว่างพวกพ่อค้าส่งออกที่เป็นตัวแทนซื้อข้าวส่งออกต่างประเทศ เจ้าของโรงสีใหญ่ๆ หลงจู๊ผู้ตรวจซื้อข้าวของโรงสี และชาวนารายใหญ่ เพื่อรวมกันตรวจคุณภาพข้าวและคัดเลือกข้าวคุณภาพดีเยี่ยมไว้เป็นตัวอย่าง ซึ่งในที่สุดได้ตัดสินคัดเลือกพันธุ์ข้าว “ ปิ่นแก้ว ” ของนาทดลองให้เป็นข้าวดีเยี่ยมและเป็นข้าวตัวอย่างมาตรฐานของไทยเพื่อการส่งออก

     ข้าวพันธุ์ปิ่นแก้ว เป็นข้าวเจ้านาสวนเมล็ดยาว เนื้อแข็งเป็นมันเลื่อม ไม่เป็นท้องไข่เปลือกและปลอกบาง เมล็ดไม่บิดไม่โค้ง ไม่มีเมล็ดแดงปน และมีน้ำหนักดี ใช้เวลาปรับปรุงพันธุ์อยู่ที่สถานีทดลองฯ เป็นเวลานาน 12 ปี

     ในปลายปี 2475 (รัชกาลที่ 7) ได้มีการจัดประกวดข้าวโลกที่เมืองเรไยนา ( Regina ) ประเทศแคนาดา โดยมีประเทศต่างๆ ส่งข้าวเข้าร่วมการประกวดทั้งหมด 176 ราย ในจำนวนนี้เป็นข้าวจากไทยถึง 150 ราย ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาได้ประกาศผลออกมาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2476 ให้ “ ข้าวปิ่นแก้ว ” ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมที่ 1 ของโลก และข้าวไทยพันธุ์อื่นๆ ยังได้รับรางวัลรองลงมาอีก 11 รางวัล จากทั้งหมด 20 รางวัล จึงทำให้ข้าวไทยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในตลาดโลก

     ในปี 2496 สมัยจอมพลผิน ชุณหะวัณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ได้จัดตั้งกรมการข้าวขึ้น โดยแยกกองการข้าวและทดลองของกรมเกษตรเดิมออกมา เพื่อพัฒนางานเรื่องข้าวให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นงานปรับปรุงพันธุ์ข้าวจึงได้ขยายคลุมทั่วประเทศโดยมีสถานีทดลองข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 22 สถานี

     กรมการข้าวมีโครงสร้างและเป้าหมายพัฒนาพันธุ์ข้าวและการทำนาอย่างชัดเจน ซึ่งได้รวบรวมประวัติความก้าวหน้าของพันธุ์ข้าวและการผลิตข้าวของไทย ทำให้กรมการข้าวได้รับความสนใจขององค์การและประเทศต่างๆ ที่จะให้ความร่วมมือช่วยเหลือกรมการข้าวมีประสิทธิภาพเข้มแข็งและยั่งยืน โดยเป้าหมายที่จะช่วยบรรเทาการขาดแคลนข้าวของโลก

     กรมการข้าว ได้มีการรวบรวมข้าวพันธุ์ที่ดี ตั้งแต่ปี 2493 จนถึงปี 2510 ครอบคลุมพื้นที่ 67 จังหวัด ในประเทศไทย เพื่อปลูกคัดเลือกพันธุ์หาพันธุ์ข้าวที่ดีเด่นส่งเสริมให้แก่เกษตรกรประมาณ 6,000 ตัวอย่าง ซึ่งในจำนวนนั้นพันธุ์ข้าวปิ่นแก้วได้ถูกตัดออก เนื่องจากให้ผลผลิตไม่สูงนัก และเป็นการปิดตำนานพันธุ์ข้าวที่เคยชนะการประกวดข้าวยอดเยี่ยมของโลก

     กรมการข้าวได้พันธุ์ข้าวดีสำหรับส่งเสริมแก่เกษตรกรอยู่หลายพันธุ์ โดยมีพันธุ์ข้าวที่ดีมากที่สุดพันธุ์หนึ่ง คือ “ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ” ได้รับรองพันธุ์ในปี 2502 มีขนาดข้าวกล้องยาว 7.5 มม. กว้าง 2.1 มม. และหนา 1.8 มม. ความยาวของเมล็ดสั้นกว่าข้าวปิ่นแก้ว แต่เด่นกว่าในสภาพ “ ข้าวสุก ” มีกลิ่นหอม และนุ่มเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

     ขาวขาวดอกมะลิ 105 มีประวัติความเป็นมาโดยพบครั้งแรกในท้องที่แหลมประดู่ อำเภอพนัสนิคม เขตติดต่ออำเภอแปลงยาว จังหวัดชลบุรี โดยนายจรูญ ตัณฑวุฒิ ได้นำมาปลูกไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488

     ต่อมาเกษตรกรได้แบ่งเมล็ดบางส่วนไปปลูกที่ท่าทองหลาง อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา และเมื่อกรมการข้าว กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการรวบรวมข้าวพันธุ์ดี เพื่อปลูกคัดเลือกพันธุ์ให้บริสุทธิ์ และประเมินผลผลิต นายสุนทร สีหะเนิน พนักงานข้าวอำเภอขณะนั้น ได้รวบรวมจากอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 199 รวง เพื่อส่งไปปลูกคัดพันธุ์ให้บริสุทธิ์ที่สถานีทดลองข้าวโคกสำโรง ในปี พ.ศ. 2498

     หลังจากนั้นได้มีการปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ท้องถิ่นในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนในที่สุดปี พ.ศ. 2502 คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ให้ใช้ขยายพันธุ์ได้ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2502 โดยใช้ชื่อว่า ข้าวดอกมะลิ 4-2-105 แต่มักเรียกว่า ขาวดอกมะลิ 105 ตระกูลข้าว กข.

     ประมาณ ปี พ.ศ. 2505 ได้เกิดการระบาดของเพลี้ยจักจั่นเขียว โดยเฉพาะในภาคกลาง ซึ่งเป็นการระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้นไปทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกรมการข้าวได้ปราบปรามและควบคุมพื้นที่ได้ แต่แมลงพวกนี้ได้ทำความเสียหายแก่ข้าวโดยเป็นพาหะของโรคไวรัสทำให้เกิดโรคใบสีส้ม พันธุ์ข้าวดีๆ ในภาคกลาง อย่างเช่น ข้าวหอมนครชัยศรีต้องสูญพันธุ์ไป

     กข. ย่อมาจากกรมการข้าวใช้เป็นชื่อเรียกพันธุ์ข้าวไทย แม้ต่อมากรมการข้าวเองได้เปลี่ยนเป็นสถาบันวิจัยข้าวในปัจจุบัน ก็ยังใช้เรียกพันธุ์ข้าว กข.

     ในปี 2509 สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute: IRRI) ประสบความสำเร็จในการผลิต “ พันธุ์ข้าวมหัศจรรย์ ” กข 1 ที่ให้ผลผลิตสูงถึง 160 ถังต่อไร่ เป็นพันธุ์ข้าวผสมระหว่างพันธุ์ข้าวข้าวเปลือกทองของไทยกับข้าว IR8 ของฟิลิปปินส์ที่ไม่ไวต่อช่วงแสง ซึ่งพันธุ์ข้าวนี้ยังมีความต้านทานต่อเพลี้ยจักจั่นสีเขียว

     ดังนั้นรัฐได้ขยายพันธุ์นี้ไปสู่เกษตรกร ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการกำจัดโรคใบสีส้นให้สงบไป นับแต่นี้เองที่เป็นการเริ่มต้นปฏิวัติเขียว หรือการใช้เทคโนโลยีในการผสมพันธุ์ข้าวใหม่ ให้ผลผลิตสูงและใช้ปุ๋ยมาก มีเป้าหมายเพิ่มผลผลิตเพื่อการส่งออก

     ทว่าผลที่ตามมาในเรื่องการแพร่ของโรคระบาดและแมลงจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เนื่องจากการปลูกข้าวพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่งอย่างหนาแน่นในบริเวณกว้าง ใช้พื้นที่เดิมทำนาปีละหลายครั้ง และใช้ปุ๋ยในปริมาณมาก ทำให้เกิดโรคหรือแมลงระบาด และจะแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งศัตรูของข้าวคือ หนูนาก็จะแพร่กระจายได้รวดเร็วเพราะมีข้าวกินตลอดปีผืนนาที่มีความชื้นสูงก็เหมาะที่จะเป็นที่เจริญเติบโตของแมลงและเชื้อโรคได้เกือบทุกชนิดทำให้ทางการต้องปรับปรุงพันธุ์ข้าว กข. ขึ้นมาเรื่อยๆ

     ข้าว กข. มีลักษณะเด่นตรงที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงนิยมปลูกในนาปรัง หรือปลูกได้ทั้งปีในพื้นที่ที่มีการชลประทาน แต่มีข้อเสียคือทำให้เกิดโรคและแมลงระบาดมาก เช่น โรคใบแห้ง เพลี้ยจักจั่นสีเขียว เพลี่ยกระโดดสีน้ำตาล เพราะการปลูกข้าวตลอดปีและนิยมปลูกกันมากทำให้วงจรของโรคและแมลงไม่ถูกตัดขาด

     ต่อมาเมื่อข้าว กข 1 กข 2 และกข 3 ไม่ได้รับความนิยมเพราะหุงแล้วแข็งเกินไป วิธีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวต่อมาจึงเปลี่ยนมาเป็นการผสมพันธุ์แทนการคัดเลือกพันธุ์เพื่อให้สามารถผลิตพันธุ์ข้าวลูกผสมใหม่ๆ ซึ่งคงรักษารูปร่างลักษณะเมล็ดยาวอันเป็นสัญลักษณ์ของข้าวไทยในตลาดโลกไว้แต่มีคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ เพิ่มจากลักษณะเดิมของข้าวเดิมที่ได้มาจากการคัดเลือกพันธุ์ เช่น ความต้านทานโรค แมลงศัตรูข้าว ศักยภาพในการให้ผลผลิตสูง เป็นต้น

     พันธุ์ข้าวที่ได้จากลูกผสมนี้ ทางสถาบันวิจัยข้าวให้เลขที่ตามลำดับที่ได้รับรอง เลขหมายคี่เป็นพันธุ์ข้าวเจ้า และเลขคู่เป็นพันธุ์ข้าวเหนียว นักบำรุงพันธุ์ของกรมการข้าวได้ทำพันธุ์ข้าวลูกผสม ที่มีคุณสมบัติพิเศษออกมารวมหลายสิบพันธุ์เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมาจากปัญหาโรคไหม้และเพลี้ยจักจั่นสีน้ำตาล พันธุ์ต้านทานโรคขอบใบแห้ง พันธุ์ต้านทานโรคใบจุดสีน้ำตาล เป็นต้น

     ตามนิยามของพันธุ์ข้าวดี คือ ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ต้านทานโรค และแมลงดี การปลูกข้าวทั่วโลกก็มีการคัดเลือกพันธุ์ที่แตกต่างกันไปตามสภาพท้องถิ่น ประเทศที่มีโรคพืชระบาดมาก เช่น อินเดียและบังคลาเทศ ข้าวพันธุ์ที่ได้รับความนิยมปลูกมักจะต้านทานโรคและแมลงดี ประเทศที่มีประชากรมากอย่างจีนและญี่ปุ่น มักจะใช้พันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง

     ในขณะที่ประเทศไทยในอดีตไม่ค่อยมีปัญหาโรคพืชและแมลงระบาดอย่างรุนแรงก็มักชอบปลูกข้าวอันเป็นเอกลักษณ์ของข้าวพื้นเมืองไทย คือ ข้าวที่มีเมล็ดขาว เรียว ใส หุงสุกแล้วจะแข็ง แต่ในความแข็งมีความนิ่ม แตกต่างจากพันธุ์ข้าวที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ที่ไม่ใช่พันธุ์ข้าวพื้นเมือง พันธุ์ข้าวเหล่านี้ ต้นเตี้ยและให้ผลผลิตสูง เป็นที่รู้จักกันดีในนามของข้าว กข ชนิดต่างๆ

     เมื่อปี 2521-2523 มีปัญหาเรื่อโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาด ปรากฏว่าพันธุ์ข้าว กข 7 เสียหายหมดจึงได้พันธุ์ กข 23 ขึ้นมา การพัฒนาพันธุ์ข้าว กข ได้ทำจนถึง กข 27 เป็นรุ่นสุดท้าย หลังจากนั้นพันธุ์ข้าวที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาใหม่จะไม่มีชื่อ กข นำหน้า แต่จะใช้ชื่อตามสถานีวิจัยต่างๆ ที่เป็นผู้พัฒนาพันธุ์แทน

     ปี 2530 ได้ออกพันธุ์สุพรรณบุรี 60 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง และเป็นพันธุ์ที่มีคุณภาพดีให้ผลผลิตมาก เกษตรกรนิยมปลูกขายได้ราคาดี ซึ่งในปี 2532 มีการปลูกกันอย่างกว้างขวาง ทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลปรับตัวสามารถทำลายข้าว ทำให้นาข้าวเสียหายไปถึง 2 ล้านไร่

     ต่อมาได้ออกพันธุ์ข้าวชัยนาท 1 ข้าวที่เมล็ดข้าวคล้ายกับหอมมะลิ ซึ่งทนต่อเพลี้ยกระโดสีน้ำตาล และเป็นข้าวที่พ่อค้านิยมปลอมปนในข้าวหอมมะลิ นิยมปลูกกันมากในภาคกลาง โดยเฉพาะที่สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท และ การพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ล่าสุด มี 2 พันธุ์คือ ข้าวเจ้าหอมคลองหลวง 1 และ ข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรี ซึ่งทั้งสองพันธุ์มีกลิ่นคล้ายข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง ต่างจากข้าวขาวดอกมะลิที่ปลูกได้ในฤดูนาปีเท่านั้น ซึ่งได้รณรงค์ให้เกษตรกรหันมาปลูกทดแทนพันธุ์เดิม

     ปัจจุบันโครงสร้างการเกษตรวิจัยใหม่ มีกรมวิชาการเกษตรที่รวบรวมกรมการค้าและกสิกรรมเข้าด้วยกันและทำหน้าที่ในการพัฒนางานพืชการเกษตรต่างๆ และมีสถาบันวิจัยข้าวแยกเป็นหน่วยงานวิจัยข้าวซึ่งมีการยกระดับสถานีทดลองข้าว 6 แห่งนี้เป็นศูนย์วิจัยข้าว โดยมีศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีควบคุมสถานีทดลองข้าว 4 สถานี ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยข้าวที่สำคัญและเข้มแข็งที่สุดของประเทศ มีประวัติการพัฒนาที่ยาวนานถึง 80 ปี ควบคู่ไปกับการพัฒนาการทำนาตามหลักวิชาการเกษตรประเทศไทย

     ในขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้มีการรับรองพันธุ์ข้าว เพื่อใช้เป็นพันธุ์ส่งเสริมเกือบ 60 พันธุ์ อาทิ ข้าวนาสวนชลประทาน เช่น ข้าว กข 1- กข 25 สุพรรณบุรี 60 พิษณุโลก 60-2 ข้าวนาสวน นาปีภาคเหนือ เช่น เหลืองใหญ่ 148 เหนียวสันป่าตอง เหนียวเหมยนอง 62 ส่วนข้าวนาปีในอีสาน มีขาวดอกมะลิ 105 ขาวปากหม้อ 148 ชุมแพ 60 น้ำสะกุย 19 เหนียวอุบล 1 เหนียวหางยี 71 และที่เหมาะกับนาปีภาคกลาง เช่น เก้ารวง 88 ขาวตาแห้ง 17 ปทุมธานี 60 พิษณุโลก 60-1 นางเลิศ 4 เหลืองประทิว 123

     นอกจากนี้ยังมีข้าวขึ้นน้ำ กข 17 กข 19 หันตรา 60 ตะเภาแก้ว 161 นางฉลอง ปิ่นแก้ว 56 เล็บมือนาง 111 ในส่วนของข้าวไร่ที่ปลูกได้ในที่ดอน และตามไหล่เขามีพันธุ์ข้าวฮ่อดอกพะยอม กู้เมืองหลวง และชิวแม่จัน สำหรับภาคใต้พันธุ์ส่งเสริม คือ กข 13 แก่นจันทร์ พัทลุง 60 นางพญา 132 เผือกน้ำ 43 และพวงไร่ 2

     ด้วยชื่อเสียงของข้าวไทย ข้าวหอมมะลิที่รู้จักกันในนาม Jusmatic Rice นั้นเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของไทยแต่นักธุรกิจสหรัฐอเมริกา นำไปจดลิขสิทธิ์เป็นยี่ห้อข้าวของเขา ซึ่งรัฐบาลต้องดำเนินการฟ้องร้อง และคัดค้านการจดลิขสิทธิ์ชื่อ Jusmatic จนถึงที่สุด แม้ว่าในขณะนี้ทางการสหรัฐอเมริกาจะรับรองการจดลิขสิทธิ์ให้กับนักธุรกิจของสหรัฐฯเองไปแล้ว แต่เราต้องพิสูจน์และประจานให้ชาวโลกได้รู้ถึงการขโมยของกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่ตั้งมาตรฐานกันแบบ Double Standard โดยที่พวกเราจะต้องร่วมกันเรียกร้องภูมิปัญญาของคนไทยทั้งชาติกลับคืนมาให้สำเร็จ

     อย่างไรก็ตามสายพันธุ์ข้าวของโลกต่างก็มุ่งมาที่ไทยในฐานะที่เป็นผู้นำเทคโนโลยีของการผลิตข้าวและผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่ง ศูนย์วิจัยข้าวของแต่ละชาติต่างก็มุ่งมั่นในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่เพิ่มคุณภาพและเพิ่มผลผลิตให้กับชาติของตนเอง เพื่อรองรับกับประชากรที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น และเป็นการพึ่งพาตนเองในระดับหนึ่ง

     ฉะนั้น สถาบันวิจัยข้าวของไทย จะต้องเร่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ทีมีคุณภาพและผลผลิตให้สูงขึ้น เพราะนับวันพื้นที่การเพาะปลูกข้าวจะลดน้อยลงไปทุกที ซึ่งในอนาคตการที่ไทยเป็นศูนย์กลางข้าวของโลก ไม่ได้ส่งออกแต่ผลผลิตอย่างเดียว แต่ยังเป็นการส่งออกทรัพย์สินทางปัญญาในด้านธัญพืช นอกจากนี้การที่โลกเข้าสู่ยุคอวกาศนับวันจะค้นหาและขยายอาณาจักร ด้วยการถ่ายทอดพันธุกรรมของมนุษยชาติ เราอาจจะได้เห็นการนำพันธุ์ข้าวของไทยไปทดลองปลูกบนดวงจันทร์ หรือดาวอังคารก็เป็นได้ และในวันนั้นจะเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์พันธุ์ข้าวไทยเป็นตำนานเทพีธัญพืชแห่งดวงดาว

โดย นายสมหมาย ยาน้อย

ที่มา หนังสือครบรอบ 85 ปี สมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ

 

ข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ประวัติศาสตร์ข้าวโลก - อารยธรรมข้าวไทย... อ่านรายละเอียด
ข้าว GI ... อ่านรายละเอียด
พันธุ์ข้าวแนะนำ ... อ่านรายละเอียด
 
แหล่งข้อมูลอื่นๆ
สารานุกรมภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย – ภูมิปัญญาข้าวไทย
มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ
สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว
ข้าว : สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนเล่ม 3
ศูนย์วิจัยข้าวทั่วประเทศ
 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2016 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.