www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai
Member Login
สมัครสมาชิกสมาคมฯ
สมาคมโรงสีข้าวไทย
คู่มือการส่งออกข้าว
ข้อมูลสถานการณ์ข้าวของต่างประเทศ
มาตรฐานข้าวไทย
องค์ความรู้เรื่องข้าว
โครงการประกันรายได้เกษตรกร
โครงการรับจำนำข้าว
การพยากรณ์ผลผลิต
การเจรจาการค้า
การประมูลข้าวสารคในสต็อกรัฐบาลโดยอิงราคา AFET
 

Jasmine VS Jazzman ใครจะหอมกว่ากัน?

Jasmine VS Jazzman ใครจะหอมกว่ากัน?

ความวิตกกังวลของชาวนาไทยได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง เมื่อบริษัท Jassmen แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประกาศก้องถึงความสำเร็จอันงดงามของการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมตราลุงแซม ในอดีต นักวิจัยของสหรัฐอเมริกาได้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมขึ้นมาหลายพันธุ์แต่พันธุ์เหล่านั้นมีระดับความหอมที่ยังด้อยกว่าข้าวหอมมะลิอยู่มาก พันธุ์เหล่านั้นได้แก่ Della, Calmati, Jasmati, Delrose, Dellmati, A301และ Jasmine 85 เป็นที่น่าสังเกตว่า พันธุ์ข้าวเหล่านี้มีคุณสมบัติการหุงต้มที่ด้อยกว่าข้าวขาวดอกมะลิอย่างชัดเจน แต่ Jazzman ได้เดินตามรอยข้าวขาวดอกมะลิมาขนาดไหนแล้ว
               
Jazzman ถือกำเนิดจากข้าวสายพันธุ์ 96a-8 ซึ่งเป็นข้าวหอมของจีนมาผสมกับข้าวเมล็ดยาวของ Arkansas เมื่อราวปี พ.ศ. 2540 แล้วทำการคัดเลือกจนได้สายพันธุ์บริสุทธิ์ถึง 13 ปี โดยการตรวจ “ดมหรือชิม” ความหอมเท่านั้น ไม่มีรายงานว่าการปรับปรุงพันธุ์ดังกล่าวได้ใช้เทคโนโลยีชีวภาพเข้าช่วยแต่อย่างใด ฝีมือการ “ชิมและดม” นี้เป็นผลงานของนักวิจัยเชื้อสายจีนที่นำโดย Associate Professor Sha จากมหาวิทยาลัย Luisiana Ag Center นักวิจัยกลุ่มนี้เขามุ่งเป้าไปที่กลิ่นหอมหวานที่ชัดเจนแล้วยังให้ความสนใจในการรักษาค่า amylose เอาไว้ประมาณ 12-15 เปอร์เซ็นต์ จึงใกล้เคียงกับข้าวขาวดอกมะลิมาก นับเป็นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกามีข้าวหอม amylose ต่ำ และนั่นก็คือ สัญญาณพุ่งเป้ามาที่ข้าวขาวดอกมะลิอย่างชัดเจน ความละเอียดอ่อนของนักวิจัยกลุ่มนี้ทำให้ข้าว Jazzman มีความนุ่ม เหนียว หอมหวาน ครบเครื่องข้าวหอมมะลิ แต่สิ่งที่ขาดไปอย่างชัดเจนน่าจะเป็นความยาวเมล็ด Jazzman เป็น “ข้าวเมล็ดสั้น” แต่สิ่งที่น่าทึ่งมากคือ ความหอมแรงคู่ผลผลิต ข้าว Jazzman มีกลิ่นหอมแรง มีค่าความหอมถึง 597 ng/g (หนึ่งในพันล้าน ppb) จึงหอมเทียบเท่าข้าวขาวดอกมะลิที่ปลูกในทุ่งกุลาร้องไห้! ในขณะที่ผลผลิตมากถึง 1.2 ตัน/ไร่ ถามว่าข้าว Jazzman เป็นคู่แข่งข้าวขาวดอกมะลิหรือไม่? เมื่อประมวลคุณสมบัติเชิงหุงต้มของข้าว Jazzman กับข้าวหอมมะลิไทย พบว่า ไม่แตกต่างทั้งความหอม % amylose  และค่า Alkaline spreading Value เมื่อยืนยันจากรสสัมผัสที่ได้อธิบายไว้ในเนื้อหาคือ หอม  นุ่ม  เหนียว ก็น่าจะเป็นแบบข้าวหอมมะลิของเรา แต่ความแตกต่างอย่างชัดเจนคือ ความยาวเมล็ด Jazzman เป็นข้าวเมล็ดสั้น (short-grain) ถามว่าตรงนี้สำคัญหรือไม่? สำหรับผู้บริโภคที่ติดในรสชาติข้าวขาวดอกมะลิ ความยาวเรียวของข้าวติดตาผู้บริโภคจนเป็นเอกลักษณ์ของข้าว เช่นเดียวกับข้าวบาสมาติของอินเดีย ซึ่งมีเมล็ดเรียวยาวมากหลังการหุงต้ม ดังนั้น ความเรียวยาวย่อมมีความสำคัญ แต่หากพิจารณาลึกลงไปแล้ว ข้าว Jazzman ที่มีค่าปริมาณสารหอมมากกว่า 500 ppb ที่ระดับผลผลิต 1.2 ตัน/ไร่ ต้องยอมรับว่าน่ากลัว โดยปกติข้าวที่มีกลินหอมแรงมักจะให้ผลผลิตไม่ค่อยสูง หากตัวเลขของ Jazzman เป็นจริงในหลายสภาพแวดล้อม ประเทศไทยควรเริ่มงานวิจัยเรื่องปรับปรุงผลผลิตและปริมาณสารหอมให้ได้ ดังนั้น ณ เวลานี้ Jazzman ยังไม่ใช่คู่แข่งที่น่ากลัว แต่ในเวลาอีกไม่ถึง 3 ปี Arkansas น่าจะมีข้าวหอมที่เมล็ดยาวกว่านี้ได้ไม่ยาก ยิ่งถ้าใช้เทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาช่วยปรับปรุงพันธุ์แล้ว ก็จะทำให้ประสบผลสำเร็จอย่างรวดเร็วทีเดียว อีกประเด็นหนึ่ง การปลูกข้าวหอมในเขตอบอุ่นอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยของฤดูปลูกข้าวต่ำกว่าประเทศไทยมาก หากการจัดการปุ๋ยและน้ำเป็นไปอย่างสอดคล้องกัน ข้าวหอมพันธุ์ไหนๆ ก็ย่อมหอมกว่า เมื่อปลูกในเขตร้อนอย่างบ้านเรา ทีนี้ประเทศไทยจะเดินไปอย่างไร?

เส้นทางการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมของไทยได้ก้าวไปไกลกว่าของ Arkansas เท่าที่รวบรวมสรุปได้ มี 3 เส้นทาง คือ แนวทาง Super Jasmine คือ เสริมความทนทานโรค-แมลง ทนสภาพแวดล้อมจำกัด เข้าไปในข้าวขาวดอกมะลิ โดยไม่กระทบกับพันธุกรรมส่วนใหญ่ของข้าวขาวดอกมะลิเลย คล้ายกับคู่แฝดของข้าวหอม พื้นที่เป้าหมาย คือ พื้นที่นาน้ำฝนของข้าวขาวดอกมะลิเดิม  แนวที่สอง คือ มุ่งปรับปรุงผลผลิตของข้าวหอมอย่างเดียว พื้นที่เป้าหมายคือนาชลประทาน แนวทางที่สาม คือ มองข้าวหอมแนวโภชนาการ โดยเพิ่มประโยชน์ด้านธาตุเหล็ก  สังกะสีและต้านเบาหวานเข้าไป พร้อมทั้งปรับปรุงผลผลิตให้สูงมากกว่า 1 ตันต่อไร่ ในเขตนาชลประทาน

แนวทางสุดท้ายถือว่าท้าทายที่สุด เพราะข้าวหอมของไทยจะก้าวขึ้นขนานกับข้าวบาสมาติของอินเดีย แต่ผลผลิตสูงระดับข้าว Jazzman ดังนั้น หากเส้นทางทั้งสามของไทยดำเนินไปโดยไม่สะดุดแล้ว ข้าวหอมไทยก็ยังคงความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกอยู่ได้ระดับหนึ่ง  แต่นักปรับปรุงพันธุ์ข้าวจะประมาทไม่ได้เลย เพราะยังมีคู่แข่งที่เหนือกว่า Jazzman ที่ใช้องค์ความรู้เรื่องยีนความหอมที่ได้ค้นพบแล้ว ดังเช่น เราจะได้เห็นความน่ากลัวของ Australia  จีนและฝรั่งเศส ในเวทีข้าวหอมอย่างแน่นอน เส้นทางข้างหน้าของข้าวหอมไทยจึงต้องอาศัยวิทยาศาสตร์มาช่วยเสริม วิทยาศาสตร์จะช่วยสร้างนวัตกรรมขึ้นอีก โดยใช้ความหลากหลายของข้าวหอมที่ไทยมีอยู่ เพื่อเป็นแรงหนุนให้งานปรับปรุงพันธุ์ก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น ขอให้กองทุนต่างๆ ช่วยหนุนให้นักวิจัยของเราทำเรื่องข้าวหอมให้มากๆ ด้วย


รศ.ดร. อภิชาติ  วรรณวิจิตร
ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว, หน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
บทความแจก ณ สัมมนาพิเศษเรื่องข้าว “ข้าวไทยกับการจดสิทธิบัตร : ก้าวต่อไป”
วันพุธที่ 21 ตุลาคม 2552  ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

 

 
©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , Fax : 0-2287-2678, 0-2287-2664

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2011 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.